จุดเปลี่ยนการจัดการวัด 2565-2566

จาก wiki.surinsanghasociety
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

แต่ก่อน เป้าหมายการบริหารวัดไม่คมชัด วิธีการดำเนินงานจึงถูกปล่อยไปตามเหตุการณ์ ไม่มีการควบคุม ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีการประเมินผลงาน
เมื่อเริ่มขยับเป้าหมาย (เมษายน 2565 ) จึงเริ่มขัดแย้งกับพระที่เติบโตจากรูปแบบเก่า ที่ไม่คุ้นชินกับระบบใหม่
ความขัดแย้งนำไปสู่การแยกทางกันอยู่ แยกกันดำเนินงาน ขณะนี้ เริ่มต้นมีพระบวชใหม่
เจ้าอาวาสต้องขยันให้มากกว่าพระลูกวัด สะอาดทุกนาที จัดเก็บ จัดแจงตลอด ดูแลเครื่องไม้เครื่องในการทำงานด้วยตนเอง
เปิดพื้นที่ให้โยม ๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับการระดมทุนและการผลิตผลงานตามแนวคิดของโยม ๆ
22 มิถุนายน 2566


วางปล่อยงานเฉื่อยลงท่าทีนิ่ง
จะเอาจริงเริ่มที่ไหนงานที่ใช่
ความสะอาดระเบียบจัดแจงไว
คิดว่าใช่จึงเน้นงานสะอาดวัดวา
25 มิถุนายน 2566


เพื่อฝึกโยมให้นำคุณธรรมใช้ในการทำงานวัด
1.พระจะไม่โพสต์ข่าวบุญ ก่อนงาน โดยหวังกระตุ้นการบริจาคผ่านงานกฐิน ผ้าป่า มหาชาติ หรือ การพัฒนาที่ต้องใช้ทุนทรัพย์มาก ๆ ยกเว้นการบอกบุญเพื่อบำรุงรักษาความสะอาด ความเรียบร้อยในวัด
2.การบอกบุญ ขอรับการบริจาคเพื่อการพัฒนาวัด เป็นบทบาทของกรรมการวัด ด้านพระมีบทบาทดูแลรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบในวัด
3.เจ้าอาวาสจะโพสต์รายนามผู้บริจาคหลังกิจกรรมงานบุญ และจัดเก็บรายชื่อผู้บริจาคไว้ในระบบฐานข้อมูล
4.ปลูกฝังความกตัญญูต่อผู้บริจาค ต่อไทยศรัทธา แก่กรรมการวัด
5.ส่งเสริมให้ผู้บริจาคเป็นผู้มีบุคลิกใจบุญสุนทาน หลีกเว้นการบริจาคด้วยหน้าตาทางสังคม
6.งานบุญให้มีบรรยากาศอบอุ่น แบ่งปัน อ่อนโยน

2 กรกฎาคม 2566


แนวทางการดำเนินงานด้านการเงิน ที่สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับกรรมการวัด
๑. การหาทุน ระดมทุน ต้องมีการจัดประชุมกรรมการวัด ให้มีข้อตกลงพร้อมกัน
๒. หลังเสร็จงานระดมทุน การบอกบุญ มีการประชุมเพื่อจัดแจงรายรับให้เกิดการขับเคลื่อนงานต่อไป
๓. เงินทุนที่นำฝากธนาคาร เมื่อจะใช้ ให้มีการประชุมอนุมัติร่วมกัน


เปรียบเทียบการดำเนินงาน ในอดีตกับอนาคต
๑. ในอดีต
- เป็นงานด่วน
- เจ้าอาวาสดำเนินการระดมทุน บอกบุญเอง และใช้จ่ายด้วยตนเอง
- เกิดองค์ความรู้ ทักษะ เฉพาะเจ้าอาวาส
- เกิดความผิดพลาดในการใช้เงิน มีการสูญเปล่า หรือไม่คุ้มค่า
- คุณค่าที่เกิดขึ้น ได้มากไม่พอกับการดำเนินงาน
๒. อนาคต
- จะเป็นงานช้า มีขั้นตอน กระบวนการร่วมกัน
- กรรมการวัดจะดำเนินการระดมทุน บอกบุญ และใช้จ่ายด้วยกัน
- เกิดองค์ความรู้ ทักษะ แบบเรียนรู้ร่วมกัน
- ลดการผิดพลาดในการใช้เงิน ใช้เงินไม่สูญเปล่า เกิดความคุ้มค่า
- คุณค่าที่เกิดขึ้น เป็นต้นแบบ ตัวอย่างให้องค์กรอื่น ๆ

5 กรกฎาคม 2566

กติกาข้อตกลงของพระภิกษุวัดสะเดารัตนาราม ตั้งแต่พรรษา 2566 เป็นต้นไป ( 2 ส.ค.2566 วันเข้าพรรษา)
1.เน้นปฏิบัติเรื่องยาวกาลิก ของที่ประเคนแล้วเก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวันได้แก่ข้าวปลาอาหาร ขนม อาหารหรือขนมที่ข้ามคืนถ้าจะฉันต้องประเคนใหม่ในวันนั้น
2.จัดให้ใช้จานข้าวช้อนส้อมและแก้วน้ำเป็นการเฉพาะรูปโดยเขียนชื่อติดไว้ที่ภาชนะนั้น

2 สิงหาคม 2566

ต้องเป็นเองจึงได้ศิษย์ที่ยอมตน
อุปัชฌาย์ชนผู้ให้กำเนิดศรี
วินัยธรรมกรอบล้อมครูศิษย์ดี
ขอบุญมีช่วยผ่านสอบจำคำ
วัดสะเดาวัดจนคนต้องเจียม
พระต้องเหนียมใช้สอยปัจจัยค้ำ
ลดเรี่ยไรผลผลิตยังน้อยนำ
เจียมตัวซ้ำเสงี่ยมตนเปิดส่วนรวม
17 ตุลาคม 2566

กลอนเกลาวันก่อนมีความว่า
ใช้เงินตรางานบุญสำเนียกมาก
เหงื่อชาวบ้านแรงที่ล้าผ่านลำบาก
ต้องวิภาคตริตรองให้คุ้มบุญ
รายจ่ายวัดที่จ่ายไปได้อะไรบ้าง
คนพระต่างพัฒนาไหมเกื้อหนุน
ผู้บริจาคปลื้มใจไหมในทางบุญ
ประเมินคุ้นปัจจัยสี่วัดต้องทำ
29 ตุลาคม 2566

ความรักที่ไม่รับผิดชอบ (หมาวัดสะเดารัตนาราม)
1.พระ หรือ โยม ที่เข้ามาอยู่วัดสะเดารัตนาราม ต้องรับทราบข้อปฏิบัตินี้
2.ให้หมาทุกตัวมีผู้ดูแล โดยการจดบันทึกและประกาศให้คนในวัดรู้ทั่วกัน ถ้าไม่มีใครดูแลจะนำออกนอกวัด ให้ผู้รับอาสาเลี้ยงนอกวัด โดยวัดจ่ายเงินให้ครั้งแรก
3.หมาที่ได้รับการดูแลแล้ว ถ้าคนดูแลนั้นนอกจากวัดให้นำหมาออกไปด้วย เพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อความรักนั้น ไม่รักแล้วปล่อยทิ้งเป็นภาระผู้อื่น (รับผิดชอบ)
4.ถ้าจะเลี้ยงให้เลี้ยงด้วยความรัก ให้ล้างจานให้สะอาดหลังให้อาหารหมาแล้ว เพื่อไม่ให้เหลือเศษอาหาร อันเป็นเหตุให้หมาที่ไม่มีเจ้าของ นอกวัดเข้ามากินและติดที่
5.หมาที่เลี้ยงเมื่อโต ให้ดำเนินการทำหมันและจ่ายค่าทำหมัน
3 พฤศจิกายน 2566

การพัฒนาการของชุมชน
เมื่อมีการจับจองที่อยู่อาศัย ณ โคกเนินดินใดสักแห่ง ต่อมามีการขยายครัวเรือนมากขึ้น ก็จะเกิดคณะแกนนำของชุมชน
เมื่อคณะผู้นำต้องการที่พึ่งทางใจ จึงมีการสร้างวัดเพื่อให้มีนักบวชเข้ามาพักอาศัย จะได้ใกล้ชิดปรึกษาในการแก้ปัญหาของการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน สังคม
พระหรือนักบวช มีหน้าที่ศึกษาปฏิบัติธรรมเพื่อให้ดูน่าเคารพ เกรงใจ เมื่อให้คำปรึกษาดูน่าเชื่อถือ เป็นที่ยุติของชุมชน
การพัฒนาวัดเป็นของชุมชน การรักษาดูแลเป็นความรับผิดชอบที่ผู้อยู่อาศัยต้องตอบแทนคุณต่อสถานที่
5 พฤศจิกายน 2566