การเข้าเยี่ยมประเมินพื้นที่ป่าชุมชนกำไสจาน

จาก wiki.surinsanghasociety
รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:21, 10 มีนาคม 2565 โดย Weera2533 (คุย | มีส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "บันทึก<br> การเข้าเยี่ยมประเมินพื้นที่ป่าชุมชนกำไสจาน...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บันทึก
การเข้าเยี่ยมประเมินพื้นที่ป่าชุมชนกำไสจาน ของ คณะกรรมการลูกโลกสีเขียว
วันเสาร์ ที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๑

คณะกรรมการลูกโลกสีเขียว และคณะเดินทางด้วยรถตู้ ๒ คัน ถึงวัดสะเดารัตนาราม เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ ที่วัดมีคณะสงฆ์ ตัวแทนชุมชน ครู เยาวชน บางส่วนที่รอรับทในวัด พระมหาวีระ กิตฺติวณฺโณ เชิญตัวแทนคณะกรรมการลูกโลกสีเขียว คือ คุณโพสพ โพธิ์บุปผา จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วสมาทานศีล ๕ คณะสงฆ์เจริญชัยมงคลกถาต้อนรับ เจ้าอาวาสแจ้งว่าปีนี้ที่วัดมีพระ ๙ รูป ชี ๔ รูป อ.ประเสริฐ ปลุกใจหาญ แนะนำบุคลากรที่สำคัญที่มาต้อนรับที่วัด คณะกรรมการลูกโลกแนะนำตัว ผอ.จำลอง จะมัวดี เป็นตัวแทนแจกเอกสารประกอบข้อมูลพื้นที่ ๒๐ เล่ม ตัวแทนเยาวชนมอบหนังสือถอดองค์ความรู้ผลงานของเยาวชน แล้วยกป้ายนิทรรศการของเยาวชน พร้อมเดินทางเข้าสู่พื้นที่ป่า ณ เขาคีรีวงคต
เดินทางถึง ณ เขาคีรีวงคต เวลา ๑๐.๒๐ น. ณ สถานที่นี้มีกลุ่มแม่ครัวประกอบอาหาร มีศาสนิกชนถือภัตตาหารร่วมกิจกรรม ผู้ร่วมกิจกรรมวันนี้มี พระ ๘ รูป ชี ๔ รูป ผู้ใหญ่บ้าน ๓ ท่าน คุณครู ๕ ท่าน ส.อบต. ๑ ท่าน หน.สอ.ต. ๑ ท่าน ภูมิปัญญา สตรี ชาวบ้าน ๓๐ คน เด็กและเยาวชน ๖๐ คน คณะกรรมการลูกโลกสีเขียวและบุคคลภายนอกชุมชน ๒๐ ท่าน รวมทั้งหมดประมาณ ๑๓๐ รูป/คน
มีเก้าอี้ ๓๐ ตัว วางไว้ล้อมวง กลางป่าธรรมชาติ พระสงฆ์ แม่ชี และบุคคลสำคัญได้นั่งเก้าอี้ บางส่วนเดินไปมาและนั่งบนโขดหินบ้าง เยาวชน ชาวบ้านนั่งบนก้อนหิน บนเสื่อ บนพื้นดิน ตามสภาพ มีโทรโข่งใช้ในการพูด ต่อมาได้เครื่องเสียงติดรถยนต์ ของ ผญ.กำพล เรืองสุข ใช้ในการพูดแลกเปลี่ยน
อ. ประเสริฐ แนะนำตัวแทนชุมชนเพิ่มเติม คณะกรรมการแนะนำตัวอีกครั้ง มีการตบมือเป็นระยะ ๆ เริ่มต้นด้วย อ.ประเสริฐ กางแผนที่แนะนำพื้นที่ป่าชุมชนกำไสจาน พม.วีระ ช่วยจัดลำดับให้ตัวแทนชุมชนนำเสนอ มีผู้ใหญ่บ้านอุดม หวังทางมี ตัวแทนฝ่ายปกครอง นางเจน อินัง เสนอเรื่องหัวไร่ปลายนา นายโกศล แก้วรัตน์ แนะนำสมุนไพร และภูมิปัญญา นางสำอางค์ สายสู่ เสนอการแปรรูปสมุนไพร
ก่อนจะให้เยาวชนนำเสนอต่อ ผู้ประสานงานโครงการผู้หญิงคนหนึ่งลุกขึ้น เสนอความเห็นว่าน่าจะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนมากกว่าการนำเสนออย่างนี้ และก็ประธานคณะกรรมการ ได้ลุกขึ้นแลกเปลี่ยนด้วยการตั้งคำถามไว้ บอกให้ชุมชนจดคำถามไว้ก่อนเพื่อจะได้ช่วยกันตอบแบบรวดเดียว ได้เชิญคณะกรรมการหลายท่านลุกขึ้นตั้งคำถาม มีคำพูดและคำถาม เช่น การนำเสนอแบบนี้เป็นเรื่องพื้น ๆ อยากถามว่าชุมชนช่วยกันรักษาป่าอย่างไร ทราบว่าที่นี้ป่าอยู่ได้เพราะอาศัยบารมีหลวงปู่หงส์ล้วน ประสานความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานในชุมชนอย่างไร วัดกับวัดเชื่อมกันอย่างไร โรงเรียนทำอย่างไรบ้าง มีหลักสูตรไหม มีเอกสารหรือไม่ขอดู อบต.ทำอะไรบ้าง คณะกรรมการป่าบริหารกันอย่างไร มีการป้องกันหรือช่วยเหลือกรรมการป่าจากผลกระทบของการทำงานอย่างไร การรักษาหัวไร่ปลายนาจะสามารถรักษาป่าได้จริงหรือเปล่า ของเก่า ๘,๐๐๐ ไร่แล้วมีพื้นที่หัวไร่ปลายนาที่อนุรักษ์เพิ่มมาอีกกี่ไร่ ชุมชนรอบป่ามีเท่าไหร่
อ.ประเสริฐ เชิญ ผอ.จำลอง ตอบคำถาม ผอ.ท่านพูดถึงความร่วมมือของบ้าน วัดโรงเรียน ขณะนั้น เวลา ๑๑.๓๐ น.พระและแม่ชีลุกไปเพล จากนั้น ผอ.จำลองเชิญ อ.นพรัตน์ช่วยตอบเรื่องหลักสูตรท้องถิ่น อ.นพรัตน์ ตอบภูมิหลังของอุดมการณ์ตนเอง และหลักสูตรที่ทำไว้บ้างแต่ปิดกุญแจไว้ในห้องวิชาการ
ผอ. เชิญตัวแทนเยาวชนตอบคำถาม มีนายวิชัย นายกิตติภัตร และ เยาวชนชายอีก ๑ เยาวชนหญิงอีก ๓ คน เยาวชนยืนเล่าเรื่องที่เกี่ยวข้อง มีคำตอบคำถามแบบคราว ๆ ไม่ชัดเจนนัก ประธานและกรรมการเข้ามาซักถามเจาะลึก เรื่องชื่อต้นไม้ คุณสมบัติ ถามหาองค์ความรู้ด้านนิเวศวิทยา เยาวชนจนมุมหลายประเด็น ครูธิดารัตน์ พยายามพูดให้เยาวชนตอบ ประธานว่าครูเดี่ยวซักทีหลัง ไม่ต้องบอกเด็ก ( เยาวชนเครียด จนมุม ) พระเพลเสร็จแล้ว ให้เยาวชนนั่งลง คุณพ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว สอนอุดมการณ์แห่งชีวิต
ผอ.จำลอง นิมนต์ พม.วีระ ตอบคำถาม พม.วีระ เล่าเรื่องแบบ……. ความคิดเห็นป่าอยู่ได้เพราะหินในดิน พื้นที่ไม่สามารถทำนาได้ มีบุคคลที่มีจิตวิญญาณนำชุมชน ชุมชนขณะนี้ อยู่ในขั้นการเรียนรู้ร่วมกัน สร้างกระแสการมีส่วนร่วมบ้านวัดโรงเรียนในการพัฒนาหลายด้าน พัฒนาเยาวชน ป่าเป็นอุปกรณ์สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
ประธานกรรมการ แสดงความเห็น ว่าไม่ควรพึ่งภายนอก ทำงานเล็ก ๆ ทำเอง ให้มีคุณภาพ
ผอ.จำลอง เชิญ อ.สุรศักดิ์ แร่ทอง พูดเชื่อมโยงสวัสดิการชุมชน ผญ.กำพล แนะนำผลงานภูมิปัญญาท้องถิ่นแห่งตน
๑๒.๓๐ น. คณะกรรมการกล่าวลา ตัวแทนพื้นที่ขอบคุณ คณะกรรมการไม่ได้รับประทานอาหาร บอกว่าเยาวชนจำนวนมากแล้ว แม่ครัวฝากขนมทานบนรถ
๑๓.๐๐ น. ประชุมสรุปกิจกรรม อ.นพรัตน์ พูดว่า เขาถามเรื่องเกี่ยวกับการศึกษามาก เราไม่มีอะไรเลยจึงตอบไม่ได้ หลายคำถามเราตอบไม่ได้ อ.ประเสริฐ พูด ถ้าเราผ่านก็จะมีคณะกรรมการระดับชาติมาอีก ถ้าอย่างนั้นเราต้องฝึกหัดกันอีกยกหนึ่ง นางสำอางค์ พูด เราไม่เข้มแข็งด้านคณะกรรมการป่าอย่างแท้จริง พม.วีระ พูด บรรยากาศวันนี้มีความร่วมมือกันดีมาก มีพระ มีชี มีเยาวชน มีชาวบ้านมาแบบวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง พุฒ พูด ว่าป่าหัวไร่ปบลายนาจะนำไปสู่การช่วยเลือกันเองจริง นิรุท พูด เป็นประสบการณ์ที่ดี คึกคักกันมาก กำพล พูด ถามลึกมาก
จบเวที เดินทางกลับ


  • ความคิดเห็นอื่น ๆ ของ พระมหาวีระ ที่อยากบันทึกไว้
  • คำถามกับชุมชน เป็นคำถามที่ถามถึงผลสำเร็จ แบบสำเร็จรูป เน้นด้านวิชาการมากไป ซึ่งเป็นเรื่องที่คนส่วนน้อยที่สามารถทำได้ เป็นเรื่องที่ต้องทำในอนาคต ถามหาอนาคตมากกว่าถามหากระบวนการพื้นที่ทุ่งมน ยังไม่เดินถึงเป้าหมายนั้น ยังอยู่ขั้นสร้างการมีส่วนร่วม สร้างความเข้มแข็ง สร้างบทบาท
  • รางวัลน่าจะหนุนเสริมความเข้มแข็งมากกว่ารางวัลแห่งความสำเร็จ
  • อยากได้ทุน หรืองบประมาณไปดำเนินการพัฒนามากกว่า ได้รับรางวัลไปชื่นชม
  • คณะกรรมการลงประเมินความเข้มแข็ง มากกว่าประเมินความสัมพันธ์ป่า ดิน น้ำ คน
  • เวลาแห่งการเรียนรู้กันและกันน้อยไป
  • ชุมชนได้ประสบการณ์ที่ดี
  • ได้เอกสารและข้อคิดที่ชัดเจนขึ้นมาก
  • เหตุที่ป่าชุมชนกำไสจาน ต้องอ่อนแอ เพราะ
  • - พื้นที่การเกษตรมีน้อย พื้นที่ไม่เหมาะแก่การทำการเกษตร ชุมชนขาดพื้นที่ทำการเกษตร
  • - คนยังขาดพื้นที่จำนวนเพียงพอ ที่จะมอบเป็นมรดกแก่ลูกหลาน
  • - ผู้คนต้องการขยายพื้นที่ทำกินอยู่เสมอ เพียงแต่ว่าไม่สามารถนำมาเป็นพื้นที่ทำนาได้เพราะหินฝังตัวในพื้นดิน หรือ พื้นที่เนินโคก พื้นที่เก็บน้ำไม่ได้
  • - ชุมชนเคยขัดแย้งด้านความเห็นในการอนุรักษ์ เช่น ไม่พอใจการยึดเอาพื้นที่หัวไร่ปลายนาเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์
  • - ป่าอยู่ได้ด้วยหิน มิใช่เพราะเกิดจากอุดมการณ์ร่วมกันแล้วร่วมมือกันอนุรักษ์ป่า
  • - คนที่มีจิตวิญญาณอนุรักษ์ป่า ยังมีจำนวนน้อยอยู่
  • - พื้นที่มีที่ทำกิน ที่นา อยู่กลางป่าจำนวนมาก
  • - ผู้คนยังไม่เป็นเจ้าของป่าหัวไร่ปลายนา
  • - ป่าชุมชนตามรูปแบบ ยังไม่สามารถตอบสนองความรู้สึกของผู้คนได้
  • - พื้นที่ป่าที่มีขอบเขตแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นจากมวลชนร่วมกันสร้างขึ้น
  • - ชุมชนยังไม่กล้าตัดสินใจเป็นเจ้าของพื้นที่ป่าที่มีขอบเขตนั้น
  • - หลักคิดการอนุรักษ์ป่าชุมชนยังไม่สมดุล สอดคล้องเอื้อประโยชน์ต่อชุมชน
  • - กฎระเบียบเพื่อการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนยังไม่เกิดขึ้น
  • - พื้นที่ป่ามี มีจำนวนมากด้วย หรือต้นทุนสูง แต่พื้นที่ประชาชนยังไม่มี
  • - พื้นที่ป่า ๑๕,๐๐๐ ไร่ ใหญ่เกินกว่าคนกลุ่ม/องค์กรเดียวทำงาน เกินกว่าชุมชนเดียวทำงาน
  • - ทักษะในการพูดของคนในชุมชนยังอ่อนด้อย