แนวคิดคิดเกี่ยวกับวัด

จาก wiki.surinsanghasociety
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

วันนี้ยามบ่าย ได้รับความไว้วางใจและมอบหมายให้ช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมด้านการจัดการทรัพยากรของวัดเพชรบุรีสู่ระบบองค์กรขาวสะอาดโปร่งใสมีส่วนร่วมทั้งชุมชนด้วยบวรสุขภาพ การประชุมร่วมกันของคณะสงฆ์ตำบลทุ่งมน-สมุด คณะกรรมการวัดและชุมชนตำบลสมุด ได้ปรึกษาหารือกันแก้ไขปัญหาของวัดด้วยหลักอริยสัจ4 ยกปัญหาขึ้นเป็นเบื้องต้น ตั้งเป้าหมายปลายทาง และหาแนวทางดำเนินงาน มีหลายงานที่ต้องช่วยกันดำเนินการตามมติที่ประชุม 1ในนั้นคือมีการรวบรวมหนี้ทั้งหมดของวัดมารับรู้ด้วยกันทั้งสังคม ยกความทุกข์นี้เป็นทุกข์สาธารณะก่อน องค์กรใด ท่านใดเป็นเจ้าหนี้วัดเพชรบุรีช่วยแจ้งด้วย รับหน้าที่รวบรวม
16/1/2559

การนำเอาเรื่องสุขภาพ การดูแลบริหารธาตุ4 การบริหารทรัพยากรด้วยความโปร่งใส ไม่รังเกียจทุนนิยมหรือบริโภคนิยม คำนึงถึงเรื่องการศรัทธา บุญ การมีส่วนร่วม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้มาเป็นงานเดียวกันเชื่อมโยงกัน เป็นวิธีลดกิจกรรม ลดงาน ลดภาระ ลดความรับผิดชอบในงานภายนอก ไม่ต้องวิ่งหางาน เพิ่มงานให้เหนื่อยและเปลืองงบประมาณเพิ่ม
17/2/2559

เมื่อวาน เดินทางไปร่วมงานศพหลานชาย ที่เทศบาลเมืองสุรินทร์ ไปกลับ 100 กม. ด้วยรถตู้ มีพระ 4 โยม 7 เติมน้ำมัน 500บ. ให้คนขับเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวได้เติมธาตุ 4 กัน 300บ. บรรยากาศงานศพมีญาติๆมาร่วมงานกันดีมาก ได้พากันเดินเพิ่มความรักสนิทกัน ครอบครัวอบอุ่น ไม่ต้องพูดมาก หรือทำอะไรให้มาก เพียงยืน เดิน นั่ง ด้วยความรักอย่างจริงใจ ก็อบอุ่น ( ตัวอย่างการเขียนบันทึกแสดงคุณภาพการใช้เงินเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ผ่านโลกออนไลน์ ทำอย่างนี้จะลดสังคมอิจฉา หรือระแวงกัน)
เงิน คือ สมบัติกลางของโลก เราจะต้องแสดงเหตุผลให้ชาวโลกรับรู้ว่าเราได้ใช้สมบัติกลางนี้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร แสดงถึงความจำเป็นที่ต้องใช้ มิใช่ความต้องการใช้ หรือ อยากใช้ ความจำเป็นที่ก่อประโยชน์ทั้งแนวแคบ กว้าง สูง ลึกแก่ตนเองด้วยตลอดถึงคนรอบข้าง คนทั่วไปอย่างจริงใจถึงที่สุด เหมือนการแผ่เมตตาที่ต้องเริ่มจากเมตตาตนก่อน ให้ใช้เงินแบบนี้ เป็นประโยชน์ตนก่อนแต่ยังไม่พอ ต้องขยายผลถึงคนอื่น ๆ ด้วย ไม่เว้นคนที่เราไม่ชอบในที่สุด
ขอให้ กรธ. เพิ่มข้อความ ในมาตรา 47 บุคคลมีหน้าที่ “ใช้สอยทรัพยากรคำนึงถึงความจำเป็น พึงมีการบันทึกการใช้ทรัพยากรประจำวัน พึงจัดทำบัญชีครัวเรือน เปิดเผยเรียนรู้ร่วมกันในครัวเรือน ชุมชน องค์กร” 26/2/2559

คิด ๆให้ตกผลึก ความเมตตาก็ต้องรอบคอบในความกรุณา จึงต้องคิดให้ชัดว่า เมื่อร่างกายผู้คนเรานี้ ประกอบด้วยธาตุ 4 ที่ต้องเติมอาหาร น้ำ อากาศ ไฟ ลงทุก ๆ วัน ผู้คนในสังคมนี้กำลังดิ้นรนเพื่อการมีชีวิตอยู่และต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีมีสุข การจัดการการนำข้อมูลให้กับผู้คนในสังคมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ให้ผู้คนในสังคมนี้ได้เข้าใจตรงกัน อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกัน ที่ต้องคิด ๆๆ อยู่นี่เพราะต้องทุ่มทุนในการนำเสนอข้อมูลและองค์ความรู้ที่ใหญ่โตมากสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน
7/3/2559

  1. ความเป็นเจ้าอาวาสกระตุ้นเร้าให้คิดว่า ตำแหน่งนี้อยู่บริหารวัด บริหารองค์กรได้ด้วยทรัพย์สินทรัพยากรของผู้คนจำนวนมาก หลากหลายฐานะและความนึกคิด หลายท่านเสียสละได้ด้วยการฝึกตัดใจ ตัดประโยชน์ในบ้าน ตัดแล้วตัดอีกกว่าจะขาดได้ ด้วยการทุ่มเท ทุ่มเทแล้วทุ่มเทอีก เพื่อวัดเจริญรุ่งเรือง เจริญตาเจริญใจ #การบริหารทุนทรัพย์ทางศรัทธา จึงต้องให้เกิดความคุ้มค่า คงทน มาตรฐาน คุณภาพ เมื่อใดสิ่งของในวัดหายไปก็กังวลได้ง่าย ๆ เมื่อจัดเก็บไม่ดีก็คิดมากด้วย เมื่อเสียหายก็อายผู้คน เมื่อตัดสินใจพลาดไปก็อ่อนแรง เมื่อประโยชน์ยังไม่เกิดเต็มที่ก็เกรงใจ....(ลองดึงความคิดบางครั้งมาบันทึกไว้)

17/6/559

เดินมาถึงนี่ได้อย่างไร (ขี้เกียจ)
1.ต้องการคุยน้อย ๆ คุยเท่าที่จำเป็น ฟังแบบไม่ยินดียินร้ายสบายกว่า
2.ต้องการคุยเบา ๆ สำเนียงเรียบ ๆ ถ้าเพิ่มเสียงจะรู้สึกตึง ๆ เครียด คุยเสร็จจะออกใจไม่สบาย
3.ไม่อยากแสดงอาการดีใจออกหน้า ออกรอยยิ้ม จะออกได้ก็ต่อเมื่อค่อย ๆ ออกตอบสนองคนที่อมสุขภายใน ถ้าเจอคนอมทุกข์ภายในและแสดงอาการชัดเจนจะเครียดตาม
4.ไม่กล้าพูดบอกแสดงความยินดีกับใคร แบบทันทีทันใด เห็นใครทำดีก็มีเพียงชื่นชมภายในใจอย่างเงียบ ๆ ยิ้มในใจ ยิ้มออกมากแบบเดิมยากมาก แสดงออกหน้าจะเครียด มองหน้าคนที่มีความเสียสละ ทุ่มเท สุจริต สบายใจ
5.ขี้เกียจออกไปนอกวัด ไม่กล้าเข้าสังคม ไม่ต้องการแสดงตัวตนในชุมนุม
6.การแสดงความเห็นเพื่อการพัฒนา ไม่มีพลังคิดพอ แต่คิดแบบรู้เท่าทัน รู้สึกสุขใจเรื่อย ๆ
7.รู้สึกขอบคุณสมาชิกกองบุญได้ดีขึ้น พอเข้าปีที่ 2 รู้สึกว่าสมาชิกลดความโลภได้มาก
8.เมื่ออยู่เงียบ ๆ หายใจลึก ๆ รู้สึกดี
9.ตื่นเต้นเสมอเมื่อใดที่ถอดความคิดตนเองเป็นตัวหนังสือได้
19/6/2559


กร่อน ห่างไกลจาก "พระนักพัฒนา" ขึ้นเรื่อย ๆ หลังเผยตัวตนออกสู่ที่แจ้ง ไม่ต้องพะวักพะวงกับภาพลักษณ์เก่า ความขี้เกียจนี้คล้ายกับว่า ปล่อยวาง จิตสงบ หายใจได้ลึก ๆ นาน ๆ มากขึ้น ถ้าจะมีข้อความในเฟซบุ๊คอยู่ ก็ขอแสดงบทบาทที่เข้าใจตนเองว่าเป็นผู้รู้ทันเหตุการณ์เท่านั้นนะ
21/6/2559


ศีลธรรมแบบศาสนา ย่อมมาจากศีลธรรมสมัยใหม่ (ปัจจุบันของเวลานั้น แต่ต้องเป็นสังคมแบบปรึกษาหารือกัน แนวระนาบเท่านั้น สมัยใหม่ยึดหลักบรรยากาศที่สอดคล้องกับสมัยใหม่ทางกาลเวลา) ก่อนจะมีผู้พิเศษ ศีลธรรมสมัยใหม่ไม่สามารถดำรงอยู่ได้เพราะผู้ฟังตามผู้นำพิเศษ ปักใจเชื่อว่า ศีลธรรมนี้มาจากผู้นำพิเศษรู้ผู้เดียว จึงง่ายต่อการไหลรวมของความเชื่อ
ศีลธรรมแบบศาสนา ควรปรับกระบวนการกลับสู่ความเป็นดั้งเดิมของการเรียนรู้ร่วมของสังคม ซึ่งอาจเรียกว่า เรียนรู้ร่วมเป็นประชาธิปไตย
จากแนวคิดนี้ ศีลธรรมย่อมเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมที่เป็นปัจจุบัน เน้นว่า เป็นปัจจุบัน (ศีลธรรมสมัยใหม่) ศีลธรรมแบบศาสนา เกิดขึ้นตามหลังศีลธรรมสมัยใหม่เสมอ เพียงแต่ว่า ศีลธรรมแบบศาสนา อยู่ในสังคมที่สร้างองค์ความรู้ทางศีลธรรมแบบปักใจเชื่อ
ศีลธรรมเดียวกัน แต่บรรยากาศในการผลิตองค์ความรู้ต่างกัน ศีลธรรมสมัยใหม่ ใช้วัฒนธรรมเรียนรู้แนวระนาบ หรือประชาธิปไตย ประกอบพุทธิจริต ผ่านธรรมวิจัยในการ สร้างองค์ความรู้ ศีลธรรมแบบศาสนา จะตรงข้ามกัน มีศรัทธาจริต สร้างองค์ความรู้ การใช้ ศีลธรรมสมัยใหม่เพื่อสนับสนุนศีลธรรมแบบศาสนา ย่อมมีองค์ความรู้ที่ต่างจาก การใช้ศีลธรรมแบบศาสนาเพื่อสนับสนุนศีลธรรมสมัยใหม่
22/6/2559

ได้ถอดตนออกจากภาระการงานที่เคยมีอย่างคับคั่ง คงเหลือแต่งานเบา ๆ ที่ทำได้แบบเดี่ยว รู้สึกเบากาย เบาใจอย่างยิ่ง หายใจได้แผ่วๆ สบาย ๆ เมื่อเห็นผู้ทุ่มเทในการงานที่มีภาระหนัก เข้าใจสุดซึ้งถึงความทุ่มเท ความเหน็ดเหนื่อยของท่านเหล่านั้น สาธุๆๆๆๆ
30/6/2559

(บันทึกรองรับจุดผันแปร อนิจจัง) บูเช็คเทียน ฮ่องเต้หญิงแห่งจีน ผ่านหนัง ผ่านนักแสดง สื่อให้เข้าใจ ซาบแทรก แนวคิด จิตใจ ที่เปี่ยมความรัก ภักดีกตัญญู อ่อนแอ อ่อนไหว ใจกว้าง ออกนอกกรอบ เฝ้าฟังเสียงแห่งความทุกข์ร้อนของชนหมู่มาก เปิดทางร่วมคิด ร่วมสำเร็จ หวังความสงบสุขสันติของหมู่คน
1/7/2559

คุยเบา ๆ พูดน้อย ๆ ปล่อยให้เข้มแข็ง แสดงบทเจ้าอาวาสเท่าที่จำเป็น ดูแลเฉพาะงานที่ยังไม่มีใครทำได้ ปัดป้องทิศทางสากล
4/7/2559


วัดเป็นของชุมชนและ เป็นของผู้บริจาค ความเป็นเจ้าของวัดของอาตมภาพจึงได้ลดลงไปตามสถานการณ์สังคม อันที่ควรจะเป็นในสังคมสมัยใหม่ ขอแสดงความรู้สึกเป็นเจ้าของวัดเท่า ๆ กับพระในวัด เท่า ๆโยมที่บริจาคสร้างวัด และ โยมที่ดูแลวัด อาจจะยังคงการกำหนดทิศทางแห่งความเป็นวัดในสมัยใหม่เท่านั้น(รีเซตองค์กร)
10/7/2559

ในฐานะเป็นเจ้าอาวาสที่มีจิตใจอ่อนไหว หวั่นไหว (โลกธรรม 8 ยังมีอิทธิพลต่อจิตใจ) มักจะซาบซึ้งถึงจิตใจผู้บริจาค ผู้เสียสละง่ายและเร็ว เห็นใจล่วงหน้าถึงยามที่ผู้บริจาคหรือผู้เสียสละจะเกิดเหตุทุกข์ร้อนใจขึ้น ตระหนักเสมอ ๆ ถึงผู้มีจิตศรัทธาที่บริจาคให้กับวัด ใจฟ้องเสมอ ๆ ว่าต้องตอบแทนหรือทำการที่ดีที่สุด เพื่อผู้บริจาค ผู้เสียสละ ด้วยการรักษาศรัทธาของโยม หวังหล่อเลี้ยงจิตใจให้ชุ่มในบุญ กุศล ความยุติธรรม จึงต้องมีการก่อสร้างให้เร็ว ทำผลงานให้ชัด ใช้เงินให้เกิดประสิทธิภาพ โปร่งใส
มักจะกังวลง่าย เมื่อการงานไม่เรียบร้อย งานยังไม่เสร็จสิ้น หรือการงานมีข้อผิดพลาด กังวลยิ่งนักเมื่อมีผู้คนในสังคมพูดว่า เป็นพระที่เห็นแก่ได้ คิดแต่จะเอาอย่างเดียว
วัดเป็นของชุมชน แนวทางการให้โยมในชุมชนร่วมเสียสละ ร่วมทำงานให้ได้งานที่ดี ให้ได้คุณภาพ คิดว่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้อง การป้องกันการใช้ของฟุ่มเฟือย ใช้ของไม่ถนอม ใช้ของเสื่อมค่าเร็วกว่ากำหนด หรือเบียดบังสิ่งของวัด กับการให้มีส่วนของชุมชน 2 แนวทางนี้ต้องคิดหนัก ต้องระวัง
เหตุการณ์เล็กน้อย เช่น ช้อนขาดหาย ทัพพีขาดหาย จานขาดหาย ของในครัวหาย หรืออุปกรณ์อื่น ๆในวัดสูญหาย จึงคิดหวั่นใจว่าโยมบางคนในชุมชนไม่รักวัดจริง ขาดการเสียสละ ขาดการเป็นเจ้าของวัด
การที่ต้องหาเงินบริจาคบ่อย ๆ เพื่อใช้จ่ายเสียทุกอย่าง เป็นภาระหนักทางจิตใจของเจ้าอาวาส เมื่อผลงานในวัดออกมาระดับหนึ่งแล้ว เจ้าอาวาสจึงควรจัดกิจกรรมเพื่อรับบริจาคเท่าที่จำเป็น เพื่อจะได้ลดความรู้สึกกังวล ถ่ายโอนความรับผิดชอบสู่กรรมการวัด หรือชุมชน ให้เป็นองค์กรธรรมาภิบาล ทำงานเป็นทีมพุทธบริษัท
มักคิดเกรงว่าจะได้ไม่คุ้มเสีย ความจริงควรที่จะดีขึ้นตามลำดับ
แผนการทำงานกับคนรอบวัด ควรที่จะไม่ให้คนรอบข้างคุ้นชินแบบคนใกล้ชิดหลวงปู่ซึ่งมีตัวอย่างมาหลายรูป คือ ประมาทในการใช้ทรัพย์ มักใช้แบบฟุ่มเฟือย
เมื่อวัดรวย พระรวย คนรอบๆ จะเสียนิสัย
ก่อนนี้การบริหารวัดก็อาจจะคล้ายการทำการตลาดเหมือนกัน บางครั้งต้องกล้าเสี่ยง (หลายครั้งที่สูญเสียจริง ๆ ) กล้าสร้างกิจกรรม กล้านำ การนำเสนอให้ตื่นเต้น ให้น่าติดตาม เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามความปรารถนาของผู้บริจาค ผู้เสียสละ หรือสังคมชาวพุทธ
บัดนี้ มีอะไรๆ เช่น อาคารเสนาสนะ วัตถุอุปกรณ์ องค์ความรู้ มากพอควรแล้ว จึงต้องลดความเสี่ยง ลดความกังวล โดยให้โยมวัดมีส่วนร่วมรักวัดแบบเป็นเจ้าของวัดจำนวนมากขึ้น ช่วยกันเพิ่มลมหายใจที่หายใจเข้าออกลึก ๆ ยาว ๆ ดูแลธาตุ 4 ให้มีความสมดุล เป็นคนพุทธแบบมีคุณภาพชีวิตที่ดี
10/7/2559

รัฐกำหนดทิศทางการพัฒนาการศึกษาและสังคมผ่านสถานศึกษา โดยกำกับให้มีโรงเรียนแนวทางประชารัฐขึ้น เลยต้องคิดต้องตรองลองทำดูว่า แนวทางวัดประชารัฐ จะเป็นเช่นไร วัฒนธรรมเดิมของวัดเป็นประชารัฐแล้วหรือยัง หรือว่ายังอ่อนอยู่ พอจะทำอะไร ๆ ได้มากกว่านี้ ที่จะเป็นวัดประชารัฐได้มากกว่านี้ แนวคิดวัดประชารัฐ ต้องคำนึงถึง เรื่อง ศีลธรรมสมัยใหม่ และ เรื่อง ความสอดคล้องกับการพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตย 2 เรื่องนี้อย่างสำคัญ เพราะว่า ถ้าการมีส่วนร่วมแบบที่ละเลยการพัฒนาศีลธรรมสมัยใหม่ และแนวทางวัฒนธรรมประชาธิปไตยแล้ว วัดอาจจะเป็นองค์กรที่ไม่ตอบโจทย์สังคมไทยในอนาคตก็เป็นได้
12/7/2559

วัด องค์กรพระพุทธศาสนาในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ แนวทางในการบริหารวัดด้วยธรรมาภิบาล คือ เปิดเผยรายรับรายจ่ายประจำวันเป็นปัจจุบันผ่านเว็บไซด์ จัดทำแผนบริหารและพัฒนาวัด ระยะ 1 ปี ระยะ 3 ปี และระยะ 10 ปี ถ้าแผนไม่ออกมา เจ้าอาวาสไม่พึงทำการใด ๆ ยศบรรดาศักดิ์ เป็นของวัดและเป็นของชุมชน มิใช่ของพระภิกษุ ก ข ค ง (ปรับตัวจากง่ายไปหายาก จากสิ่งที่เป็นมีอยู่สู่เรื่องที่ยังไม่มี)
15/7/2559

(ร่าง) ธรรมนูญวัดสะเดารัตนาราม ๑๖/๗/๒๕๕๙
๑. ธรรมนูญวัดสะเดารัตนาราม ได้มาโดยการฟังความคิดเห็นของชุมชนและผู้รู้/นักคิด /ปราชญ์สังคมยุคศีลธรรมสมัยใหม่ และผ่านการเห็นชอบของพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ชุมชนวัดสะเดารัตนาราม
๒. การบริหารจัดการวัดสะเดารัตนาราม บริหารจัดการแบบองค์กรชาวพุทธ เป็นพุทธบริษัท คือ พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา เจ้าอาวาสช่วยกำกับวัดให้เป็นไปตามธรรมนูญวัด
๓. ให้จัดทำ/ให้มี แผนบริหารจัดการและพัฒนาวัดสะเดารัตนาราม เป็น ๓ ระยะ คือ ระยะ ๑ ปี ระยะ ๓ ปี และระยะ ๑๐ ปี โดยมีการปรับปรุงแผนฯทุกปี การจัดทำแผนฯ มีการรับฟังและมีส่วนร่วมของชุมชนมากที่สุด
๔. วัดยึดมั่นในวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๖ วิธี ตามพุทธโอวาทปาฏิโมกข์ แต่ไม่ขัดแย้งกับการทำหน้าที่กัลยาณมิตรด้วยหัวใจเป็นมนุษย์
๕. วัดใช้กระบวนการชุมชน หรือกระบวนการชุมชนดั้งเดิม ช่วยขัดเกลาบุคลิกภาพพระภิกษุ สามเณร ในบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกัน เรียนรู้ในระนาบเดียว สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้
๖. การเขียนธรรมนูญวัดสะเดารัตนาราม เป็นลายลักษณ์อักษรได้เท่าที่จำเป็นที่สุด ธรรมนูญวัดที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรจำนวนมากให้สอดคล้องกับหลักธรรม มโนสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์ หลักมนุษยธรรม สอดคล้องกับธรรมชาติและสถานการณ์ ตระหนักให้ธรรมนูญวัดเป็นแนวทางวิถีชุมชน วิถีวัฒนธรรมชุมชน วิถีวัฒนธรรมแห่งการขัดเกลาเรียนรู้ ปรับตัวง่าย ๆ
๗. หลักธรรมสำคัญในการบริหารจัดการวัด มี ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ไตรลักษณ์ ๓ อริยสัจ ๔ เป็นตัน


จะบอกว่า ถ้าชุมชนออกแผนแผนบริหารจัดการและพัฒนาวัดสะเดารัตนาราม 3 ระยะ คือ 1ปี 3ปี 10 ปี ได้
หลวงพี่อาจจะขยันกลับมา
ตอนนี้เจอทางตัน
เหมือน ปี 36 เจอทางตันในการพัฒนาวัด เลยต้องออกไปเรียน
ตอนนี้มีความรู้มาก มีประการณ์มาก แต่มาเจอทางตันอีก เดินต่อไม่ได้
วัดเจริญกว่าชุมชน ความรู้ล้ำหน้า ชุมชนตามไม่ทัน
ถ้าทำทำต่อไป ก็จะมีผลเสีย
ไม่คุ้มกับที่ควรจะได้
ชุมชนต้องร่วมวางแผนอย่างมีขั้นตอนจึงไปได้อีก
สิ่งที่ทำมาแล้ว แต่ออกจะไม่ยั่งยืน ในอนาคต
ศีลธรรมสมัยใหม่ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการ
เขียนแผนร่วมกันแล้วเดินตามแผน จึงจะยั่งยืน
แผนก็ต้องมาจากการยอมรับของคนจำนวนมากก่อน
เลยต้องรอแผน รอความพร้อม
ตัน เลยไปไม่ถูก
คงจะเริ่มพิมพ์ให้อ่านก่อน
หลวงพี่เขียนแผนให้
แต่ความคิดต้องออกจากชุมชน มาจากโยม ๆ จำนวนมาก
หลวงพี่เขียนให้ จัดกระบวนการให้ เมื่อแผนออกก็กำกับให้บรรลุแผน
โยมๆ อยากให้วัดเป็นอย่างไร ยอมรับกันไหม ระยะเวลาที่ทำ ทำอย่างไร ใครร่วมทำบ้าง
หลวงพี่คอยกำกับแผน ตามที่ตกลงกันไว้
ที่ผ่านมาจัดว่าทดลองทำกัน
หลวงพี่จะพยายามไม่ลงมือทำเอง จะกำกับทิศทางให้เป็นตามแผน สอบถาม ไต่ถามแทน
17/7/2559

"ผูกขาดความรักชาติแต่ฝ่ายเดียว" คำนี้สำคัญมากในวิถีประชาธิปไตย ที่สำคัญคือความเข้าใจผิด สำคัญผิด ของความไม่เข้าใจว่าพื้นโลกเป็นเวทีกลางของผู้คนที่หลากหลาย เป็นรอยต่อเชื่อม ทางแยกระหว่างสุคติ และ ทุคติ แผ่นดินที่ทำดีได้มากที่สุด และทำชั่วได้มากที่สุด แต่สังคมที่อยู่ด้วยกันอย่างสันติสุขจะต้องไม่สุดโต่งเรื่องดีหรือชั่ว สังคมใหญ่ที่หลากหลายควรคุยกันได้แบบเรื่องหยาบ ๆ เรื่องปาก ท้อง ทรัพยากร การดำรงชีวิต เรื่องปรัชญาดีชั่วเป็นความอ่อนไหวทางสังคมกระทบศักดิ์ศรีความเป็นคน(มนุษย์) การเรียนรู้ร่วมกันในระนาบเดียวจึงเหมาะกับผู้คนในพื้นโลก
ความดี ความชั่ว ไม่ควรนำมาอธิบายกับสังคมประชาธิปไตย ควรใช้เรื่อง ยุติธรรม หรือ ไม่ยุติธรรม จะชัดเจนกว่า
23/7/2559

การที่ต้องโชว์ตัวเลขการเงินถวายพระ เห็นว่าเป็นความจริงที่จำเป็นต้องดูแลพระสงฆ์และองค์กรที่ท่านดูแลอยู่ อยากลบมายาคติของสังคมนี้บ้าง ไม่อยากเหนียมอายเรื่องการเงินกับพระ กล้าเปิดเผยตรงไปตรงมา แล้วให้มุมมองใหม่ เงิน คือ ปัจจัย 4 นำไปสู่ธาตุ 4 เมื่อพระภิกษุสงฆ์มีจุดอ่อนเรื่องเงินทอง ถ้าไม่ปรับมุมมององค์กรพระพุทธศาสนาจะทำงานยาก ควรกล้าเผชิญปัญหาที่จะถูกต่อว่า แต่ยืนยันหลักโปร่งใส มีส่วนร่วม และการแบ่งปัน เกื้อกูลกันในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพชีวิตของทุกชีวิต
27/8/2559

ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เจ้าอาวาสวัดสะเดารัตนาราม ที่ชื่อพระครูปริยัติกิตติวรรณ จะต้องถือเงินสดไว้ในกระเป๋าอังสะหรือแนบตัวได้ไม่เกิน5000บาท จะใช้เงินที่เป็นตัวเลขแทนหรือมีผู้อื่นจัดเก็บ-จ่ายแทน
บ่าย1โมงวันนี้ ได้ลืมกระเป๋าเงินไว้บนอาสนะที่นั่งในศาลาวัด เพราะรีบไปร่วมงานนอกวัด เงิน1แสนที่อยู่ในกระเป๋าจึงเคลื่อนที่หายไป ด้วยเหตุนี้เจ้าอาวาสผู้ไม่สามารถรักษาทรัพย์สินของส่วนรวมไว้ได้ จึงขอเปลี่ยนแปลงตนเองด้วยการถือเงินไว้ในตัวไม่เกินคราวละ5000บาท
24/10/2559

การเปิดเผยข้อมูลด้านความเสียหายของวัด ก็เพราะ เจ้าอาวาสผู้รับภาระในการบริหารปัจจจัย4 ที่รวบรวมโดยพุทธบริษัทเพื่อหวังทำประโยชน์ต่อสังคมสังฆะ แล้วการที่เงินหรือปัจจัย4 ของสังคมสังฆะ คณะส่วนรวมเสียหายไป ได้เป็นความจริงเป็นข้อมูลที่สังคมต้องรับรู้รับทราบร่วมกันว่าประโยชน์ที่หวังนั้นบางส่วนบางอย่างอาจติดขัด อาจสะดุด สภาพประโยชน์ที่ควรจะเกิดขึ้นทางนามธรรมคุณธรรมลดลง ขอให้ทำใจรู้กาลล่วงหน้า รู้สภาพตามความเป็นจริงของเหตุผลและ ร่วมรับรู้ถึงวิธีการป้องกันแบบต่างๆที่จะแตกต่างจากแบบที่เคยชินมา
ความสงบเรียบร้อยของสังคม นอกจากเกิดจากจิตใจของบุคคลแต่ละคนอันมีศีล5. แล้วต้องอาศัยกระบวนการทางสังคมบำบัดด้วย พรุ่งนี้จะไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์
25/10/2559

(ร่าง วัดการเงินธรรมาภิบาล)
๑.เจ้าอาวาสวัดสะเดารัตนาราม ถือเงินสดไว้ในกระเป๋าอังสะไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ถ้าเกินต้องเอาส่วนที่เกินไปเก็บในสถานที่จัดเก็บ โดยไม่เกินข้ามคืน หรือถ้ามีเหตุจำเป็นก็ต้องบอกกับผู้คนข้าง ๆ ที่อยู่ใกล้ชิดขณะนั้น
๒.เจ้าอาวาสวัดสะเดารัตนาราม จ่ายเงินได้ไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาทต่อครั้งและต่อวัน ถ้าเกิน ๕,๐๐๐ บาท เป็นอำนาจของไวยาวัจกรวัด ที่ต้องบันทึกเป็นหลักฐานมีโดยกรรมการวัด/คนวัด เซ็นชื่อกำกับไว้อย่างน้อย ๓ ท่าน ยิ่งจ่ายมากต้องรับรู้กันมาก
๓.ไวยาวัจกรวัด แต่งตั้งได้คราวละ ๒ ปี คุณสมบัติสำคัญ คือ มีความเคารพ สุภาพ จิตใจสุขุมรอบคอบ มีหัวใจธรรมาภิบาล การระแวง การสงสัย การใคร่รู้ของผู้คนในชุมชนเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องรีบดำเนินการให้เรียบร้อยโดยเร็ว
๔.การจะไปสั่งซื้อของต้องมีการจัดทำเอกสารเป็นหลักฐาน โดยกรรมการวัด/คนวัด เซ็นชื่อกำกับไว้อย่างน้อย ๒ ท่าน ยิ่งจ่ายมากต้องรับรู้กับมาก
๔.แนวทางนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ความเป็นจริงในพระธรรมวินัยมีอยู่ยิ่งกว่านี้ ในกฎหมายก็มีมานานแล้ว แต่มีที่ต่างจากกฎหมายคืออำนาจของเจ้าอาวาสที่ลดไป
27/10/2559