เศรษฐกิจกับจิตใจ

จาก wiki.surinsanghasociety
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

เศรษฐกิจกับจิตใจสำคัญมาก ๆ ว่าต้องไปคู่กัน ขาดออกจากกันไม่ได้ เป็นความสำคัญจากภายนอกบวกกับความสำคัญจากภายใน ของใด ๆ ในโลกนี้มีคู่กัน เช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจกับจิตใจก็เป็นคู่กันต้องไปด้วยกัน ที่ต้องพิจารณาเรียนรู้ให้ความสำคัญทั้ง ๒ ด้าน ๒ อย่างนี้ให้ชัดเจน เปรียบได้กับเราจะต้องชัดเจนในเรื่องของร่างกายกับจิตใจ เพราะเราเข้าใจกันแล้วว่าร่างกายกับจิตใจสำคัญคู่กันเสมอตลอดมาและตลอดไป ร่างกายก็คือรูปกาย รูปกายก็คือธาตุ ๔ ดินน้ำไฟลมประชุมกันขึ้น ซึ่งเกี่ยวพันกับสุขภาพเกี่ยวพันกับความแข็งแรงเกี่ยวพันกับความสมดุลของธาตุ ๔ เมื่อรูปคือธาตุ ๔ ธาตุ ๔เมื่อรวมอยู่อันเดียวกันกับจิตใจก็คือขันธ์ ๕ นั่นเอง ขันธ์ ๕ องค์ประกอบที่เป็นรูปและเป็นนามประชุมกันอยู่ รูปกายสัมพันธ์จับคู่ได้กับเศรษฐกิจ เพราะสัมพันธ์กับการใช้จ่ายทรัพย์การหาทรัพย์ชัดเจนที่สุด ภาษาที่พูดกันคือหากินหาอยู่ เศรษฐกิจสัมพันธ์กับสุขภาพสัมพันธ์กับความแข็งแรงสัมพันธ์กับปัจจัย ๔ เศรษฐกิจกับจิตใจจึงจัดว่าคือขันธ์ ๕ เช่นกัน เราจำเป็นจะต้องจริงจังเพื่อดูแลเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ต่อร่างกายสุขภาพปัจจัย ๔ อันมีผลต่ออุณหภูมิของร่างกาย เราจะต้องให้ความสำคัญกับจิตใจ เพราะจิตใจจำต้องมีสัมมาทิฏฐิ ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ มีการงานที่ถูกต้องเพื่อจะไม่ทำลายทรัพย์ก็คือไม่ทำลายรูปธาตุ ๔ ของตนนั่นเอง พัฒนาจิตเพื่อดูแลกายพัฒนากายเพื่อคุ้มครองจิต สัมพันธ์การภายนอกและภายในอย่างนี้แล้วจึงจะละทิ้งตัดทิ้งว่าเศรษฐกิจกับจิตใจไม่สัมพันธ์กันนั้นจึงไม่เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง การเข้าใจชีวิตผิดย่อมดำเนินชีวิตผิด ชีวิตย้อนแย้ง สังคมย้อนแย้ง วัฒนธรรมย้อนแย้ง การย้อนแย้งทางความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจกับจิตใจจึงเป็นบรรยากาศที่บั่นทอนศักยภาพในการดำเนินชีวิตสู่การพัฒนาจิตใจอย่างยิ่ง
๕ มกราคม ๒๕๖๓