ความคิด การเมือง 2558-2559
เมื่อภัยมาถึงตัวก็กลัวสูญเสียคนที่รักไป สัญชาตญาณก็ผลักดันให้ป้องกันภัย เกิดการรวมใจกันคิดค้นวิธีการแก้ไขปัญหา ความประมาทที่เคยมีมาแต่ก่อนก็ถูกทอนออก สรรพวิธีที่อ่อนโยน ที่มีพลังรัก ที่ประกอบด้วยเมตตาก็ปลั่งพรูออกแสดง การรวมความสนใจ เพ่งมองรวมศูนย์ยังให้การดูแลรักษาต้องระมัดระวังสูง ต้องระดมทั้งสรรพวิชา หยุกยาที่ดีที่สุด หมอที่ดีที่สุด มารักษาคนไข้ การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อคุณภาพของใจจะมีผลต่อการต่อสู้กับโรคภัยเสมอ ๆ และเมื่อคนกลัวภัย ตกใจ ขวัญกระเจิง จิตอ่อนแอ จะเกิดช่องว่างให้สิ่งร้าย ๆ หรือ สิ่งดี ๆ เข้าแทรกได้เสมอ อยู่ที่สิ่งแวดล้อมนั้นว่าจะดี หรือ ไม่ดี ในด้านสิ่งดีมักจะเกิดปัญญาแห่งการอยู่ร่วมกันเสมอ ลดความประมาทในวัย ลดความประมาทในทรัพย์ ได้ จะพาบวช จะพานั่งสมาธิก็พร้อมยอมทั้งนั้น
18/11/2558
การแก้ปัญหาที่มีพลังและมีสันติได้จริงมากที่สุด คือ มีปัญหาแล้ว ต้องช่วยกันแก้ไข แต่ต้องแก้แบบไม่รุนแรง ไม่ก่อเวร แต่ก็ต้องแรงทางความรักมากพอในการเปลี่ยนแปลงคนร้ายให้กลายเป็นคนเย็นมากขึ้น (เมตตาที่ประกอบด้วยกรุณาอย่างครู)
18/11/2558
หลักปฏิจจสมุปบาท คือ เงื่อนไขที่มีต่อเนื่องกัน หรือเงื่อนไขที่สัมพันธ์กัน เช่น เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะเกิดสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี ฯ
การอธิษฐาน เป็นการตั้งเงื่อนไขเพื่อให้มีสิ่งที่ต้องการความสำเร็จเกิดขึ้น โดยอาศัยอำนาจ/พลัง/ความดี จากภายในตนเองฯ
การบนบานศาลกล่าว เป็นการตั้งเงื่อนไขเพื่อให้มีสิ่งที่ต้องการความสำเร็จเกิดขึ้น โดยอาศัยอำนาจ/พลัง/ความดี จากภายนอกตนเอง มีการทำสัญญามั่นหมายกับอำนาจนอกตัว ซึ่งก็ไม่แน่นอนว่ามีอำนาจดลบันดาลจริงเท็จอย่างไร มากหรือน้อยเท่าใด ขณะที่บนบานก็คือการบันทึกเงื่อนไขตั้งสัจจะ ตั้งความตั้งใจ ความจริงใจ ไว้ในใจของตนเอง การบนบานเหมือนการทำสัญญาเช่นเดียวกันกับเวลาที่เงินขาดมือแล้วเดือดร้อนแล้วไปยืมเงินผู้อื่นจึงมีการตั้งใจสัญญาที่จะคืนเงินตามเวลาที่กำหนดหรือจ่ายดอกเบี้ยมากน้อยตามที่ได้ยอมรับแล้วขณะนั้นฯ
การบนบานศาลกล่าว แบ่งเป็น 2 พวกตามความจำ
1.จำได้ จำความจริงใจของตนได้
2.จำไม่ได้ ลืมความจริงใจของตนเอง ฯ
- การบนบานศาลกล่าวที่จำได้ แบ่งเป็น 2 พวกตามผลที่เกิดขึ้น 1.ผลเกิดขึ้นตามที่ต้องการ 2. ผลที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามที่ต้องการ
1.1 เมื่อผลที่เกิดขึ้นตามความต้องการแล้ว ก็แก้บนตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้แล้วในใจก่อนนี้ เป็นการกระทำตามสัจจะ มีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง สัญญากับใครแล้วก็รักษาสัญญา แม้คนที่เราสัญญาด้วยจะเป็นเช่นไรก็ตามไม่ยอมเสียคำพูดของตน ฯ
1.2 เมื่อผลที่เกิดขึ้นตามความต้องการแล้ว ไม่มีแก้บนตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้แล้วในใจก่อนนี้ เป็นการกระทำที่เสียสัจจะ ขาดความซื่อสัตย์ต่อตนเอง เป็นคนขาดความศรัทธาตนเอง โกหกตนเอง ฯ
1.3 ผลที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามที่ต้องการ จึงไม่แก้บน เพราะเงื่อนไขไม่เกิดขึ้นฯ
ส่วนการบนบานศาลกล่าวแล้วจำไม่ได้ เป็นความอ่อนแอทางจิต ขาดสมาธิ แม้ตั้งสัจจะให้ตนเอง ก็ยังลืมได้ จึงมีหมอดูมาทำนายทายทักบอกเรื่องราวเชิงลบ เมื่อฟังแล้วย่อมหวั่นไหว หวาดกลัว ขาดความมั่นใจในตนเอง วิธีแก้ไขคือ ลบล้างความหวั่นไหว ความหวาดกลัวเสีย ด้วยการยอมรับความผิด จึงขอขมาลาโทษ แสดงออกทางวาจา ทางกาย อย่างจริงใจ คำขอขมาที่กล่าวด้วยวาจา ก็จะมีคำว่า ด้วยเจตนาก็ดี ไม่เจตนาก็ดี เป็นต้น ส่วนพิธีกรรรม รูปแบบ ไม่มีความตายตัวฯ การยอมรับความผิด จึงขอขมาลาโทษอย่างจริงใจแล้ว การขอขมาเป็นอริยประเพณีของชาวพุทธด้วยวิธีง่าย ๆ เปล่งวาจาด้วยความจริงใจ ถ้าหมอดูยังทักอีกทำนายแง่ลบอีก เป็นว่าหมอดูกำลังหากินกำลังแสวงหาทรัพย์ อำนาจ การยอมรับนับถือ บนความอ่อนแอของเรา
2/12/2558
กองบุญเพื่อพัฒนาวัด ชุมชน สังคม และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ มีเทคนิคมอบเงินใส่บัญชีงานบุญช่วยกันจัดการงานศพ เพื่อให้งานศพเป็นงานสาธารณะของชุมชน แต่ก็อนุโลมการมอบแก่ผู้รับผลประโยชน์โดยตรงได้เมื่อได้ชี้แจงแผนการใช้เงินเป็นประโยชน์แก่งานศพหรือการปลดภารกิจผูกพันของผู้เสียชีวิต ชุมชนต้องแก้ไขให้มีความโปร่งใสในหมู่เครือญาติและคนในชุมชน ลดการเอาเปรียบกันและกันแม้เรื่องวัฒนธรรม
21/12/2558
ความศรัทธา คือสภาพจิตที่ตกลงยอมรับนับถืออย่างสูงสุด ยอมตัว ยอมตน อยู่ภายใต้บุญบารมี ความดี อำนาจ แนวคิด ทัศนคติ การศรัทธาจึงเป็นเรื่องสำคัญ ๆ มาก ๆ ของผู้ตัดสินใจยอมตนครั้งสำคัญในชีวิต ผู้คนในสังคมหมู่มากมีทั้งดำเนินชีวิตด้วยศรัทธาและอยู่ด้วยจำยอมหรืออยู่แบบแล้วแต่ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำทุกระดับทั้งฝ่ายศาสนาจักรหรืออาณาจักร จะมีความขัดแย้งเสมอ ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดามาก ที่สำคัญกว่า คือ การวางใจเข้าใจทัน เคารพ ต่อความขัดแย้ง การโต้แย้ง การถกเถียง แล้วหลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์แล้วสามารถอยู่ร่วมกันได้แบบสันติสุขตามกฎกติกาที่ตกลงร่วมกันแล้วต่างหากที่เป็นวัฒนธรรมสังคมอริยะ สังคมประชาธิปไตย
16/1/2559
วันนี้ยามบ่าย ได้รับความไว้วางใจและมอบหมายให้ช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมด้านการจัดการทรัพยากรของวัดเพชรบุรีสู่ระบบองค์กรขาวสะอาดโปร่งใสมีส่วนร่วมทั้งชุมชนด้วยบวรสุขภาพ การประชุมร่วมกันของคณะสงฆ์ตำบลทุ่งมน-สมุด คณะกรรมการวัดและชุมชนตำบลสมุด ได้ปรึกษาหารือกันแก้ไขปัญหาของวัดด้วยหลักอริยสัจ4 ยกปัญหาขึ้นเป็นเบื้องต้น ตั้งเป้าหมายปลายทาง และหาแนวทางดำเนินงาน มีหลายงานที่ต้องช่วยกันดำเนินการตามมติที่ประชุม 1ในนั้นคือมีการรวบรวมหนี้ทั้งหมดของวัดมารับรู้ด้วยกันทั้งสังคม ยกความทุกข์นี้เป็นทุกข์สาธารณะก่อน องค์กรใด ท่านใดเป็นเจ้าหนี้วัดเพชรบุรีช่วยแจ้งด้วย รับหน้าที่รวบรวม
16/1/2559
การนำเอาเรื่องสุขภาพ การดูแลบริหารธาตุ4 การบริหารทรัพยากรด้วยความโปร่งใส ไม่รังเกียจทุนนิยมหรือบริโภคนิยม คำนึงถึงเรื่องการศรัทธา บุญ การมีส่วนร่วม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้มาเป็นงานเดียวกันเชื่อมโยงกัน เป็นวิธีลดกิจกรรม ลดงาน ลดภาระ ลดความรับผิดชอบในงานภายนอก ไม่ต้องวิ่งหางาน เพิ่มงานให้เหนื่อยและเปลืองงบประมาณเพิ่ม
17/2/2559
เมื่อวาน เดินทางไปร่วมงานศพหลานชาย ที่เทศบาลเมืองสุรินทร์ ไปกลับ 100 กม. ด้วยรถตู้ มีพระ 4 โยม 7 เติมน้ำมัน 500บ. ให้คนขับเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวได้เติมธาตุ 4 กัน 300บ. บรรยากาศงานศพมีญาติๆมาร่วมงานกันดีมาก ได้พากันเดินเพิ่มความรักสนิทกัน ครอบครัวอบอุ่น ไม่ต้องพูดมาก หรือทำอะไรให้มาก เพียงยืน เดิน นั่ง ด้วยความรักอย่างจริงใจ ก็อบอุ่น ( ตัวอย่างการเขียนบันทึกแสดงคุณภาพการใช้เงินเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ผ่านโลกออนไลน์ ทำอย่างนี้จะลดสังคมอิจฉา หรือระแวงกัน)
เงิน คือ สมบัติกลางของโลก เราจะต้องแสดงเหตุผลให้ชาวโลกรับรู้ว่าเราได้ใช้สมบัติกลางนี้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร แสดงถึงความจำเป็นที่ต้องใช้ มิใช่ความต้องการใช้ หรือ อยากใช้ ความจำเป็นที่ก่อประโยชน์ทั้งแนวแคบ กว้าง สูง ลึกแก่ตนเองด้วยตลอดถึงคนรอบข้าง คนทั่วไปอย่างจริงใจถึงที่สุด เหมือนการแผ่เมตตาที่ต้องเริ่มจากเมตตาตนก่อน ให้ใช้เงินแบบนี้ เป็นประโยชน์ตนก่อนแต่ยังไม่พอ ต้องขยายผลถึงคนอื่น ๆ ด้วย ไม่เว้นคนที่เราไม่ชอบในที่สุด
ขอให้ กรธ. เพิ่มข้อความ ในมาตรา 47 บุคคลมีหน้าที่ “ใช้สอยทรัพยากรคำนึงถึงความจำเป็น พึงมีการบันทึกการใช้ทรัพยากรประจำวัน พึงจัดทำบัญชีครัวเรือน เปิดเผยเรียนรู้ร่วมกันในครัวเรือน ชุมชน องค์กร”
26/2/2559
กลั่นคำเค้นความคิด กรองผลิตแนวทางชัด
รวบสติสมาธิจัด ทบทวนดัดขัดเกลาทาง
รวมคนสังคมนี้ เกื้อกูลดีหุ้นส่วนสร้าง
เปิดเผยข้อมูลวาง เรียนรู้กว้างลึกกายใจ
ทุ่มใจให้สุดลึก ลุล่วงผลึกสว่างสดใส
สังคมเกื้อกูลไกล ใช่แล้วใช่ทานมัย เอย.
คิด ๆให้ตกผลึก ความเมตตาก็ต้องรอบคอบในความกรุณา จึงต้องคิดให้ชัดว่า เมื่อร่างกายผู้คนเรานี้ ประกอบด้วยธาตุ 4 ที่ต้องเติมอาหาร น้ำ อากาศ ไฟ ลงทุก ๆ วัน ผู้คนในสังคมนี้กำลังดิ้นรนเพื่อการมีชีวิตอยู่และต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีมีสุข การจัดการการนำข้อมูลให้กับผู้คนในสังคมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ให้ผู้คนในสังคมนี้ได้เข้าใจตรงกัน อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกัน ที่ต้องคิด ๆๆ อยู่นี่เพราะต้องทุ่มทุนในการนำเสนอข้อมูลและองค์ความรู้ที่ใหญ่โตมากสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน
7/3/2559
อากาศร้อนและความแห้งแล้งมีผลต่อการลดลงของอาหารในชุมชน อาหารแพงขึ้น หาได้ยากขึ้น การผลิตลำบากขึ้น การผลิตอาหารจำต้องใช้ทุนทรัพย์และเทคโนโลยีที่สูง เมื่อชุมชนเกิดการฝืดเคืองขาดแคลนอาหาร งานศพจึงเปลี่ยนไปกลายเป็นงานแจกอาหาร กระจายอาหาร ที่เจ้าภาพไม่อาจจะควบคุมทิศทางหรือจัดการได้ งานศพต้องหมดค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น
8/3/2559
การให้เด็กตกซ้ำชั้น เมื่อ 30 ปีมาแล้ว สมัยที่ครอบครัวในชนบทยังไม่ให้ความสำคัญต่อการศึกษานัก การสอบตกจึงไม่เป็นความทุกข์ของครอบครัว ซ้ำถูกแนะนำให้ออกมาทำนาทำไร่ ช่วยงานในบ้าน มากขึ้น เด็กที่สอบตกมักเรียนไม่จบ ป.4 หรือ ป.6 มีทัศนคติเชิงลบ
ต่อมาจึงมีนโยบายไม่ให้มีการตกซ้ำชั้น เกิดขึ้นในสมัยที่ครอบครัวตื่นตัวต่อการศึกษาของบุตรหลาน กลับมีผลร้ายต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
ในความจริง การตกซ้ำชั้นควรเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับความตื่นตัวด้านการศึกษาของครอบครัว คือโอกาสของการพัฒนาผู้เรียน ส่วนนโยบายไม่ให้เรียนซ้ำชั้นควรใช้กับสมัยที่ผู้คนยังไม่ให้ความสำคัญการการเรียนในระบบ
19/4/2559
ต้องไม่บังคับเด็กไทยเรียน ม.1 -ม.3 อีกแล้ว ใครไม่อยากเรียนก็ปล่อยให้เขาเผชิญโลกจริงก่อน เมื่อเขาเข้มแข็งเขาจะเรียนเองด้วยฉันทะ ด้วยความพอใจ ใครเรียนก็ให้เรียนฟรี รัฐไม่ต้องห่วงว่าเด็กไทยจะไม่ได้เรียนต่อม.1อีกแล้ว เปิดโอกาสให้เด็กไทยบางกลุ่มได้เรียนจากชีวิตจริงเถอะ ขอให้จัดการศึกษาระดับประถมศึกษาที่มีคุณภาพแล้ว เชื่อว่าเด็กไทยจะเรียนต่อ ม.1 อย่างมีคุณภาพ
26/4/2559
เพิ่มความเห็นเรื่องการศึกษา ม.1 ที่สอดคล้องสังคมไทย สังคมไทยยึดหน้าตา ศักดิ์ศรีมากเกินเปรียบ เด็กเยาวชนไทยจึงกลายเป็นคนน้อยใจง่าย เสียหน้าเร็ว หมดกำลังเรียนต่อถ้าไม่สวย ไม่หล่อ ไม่มีเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้าที่เพื่อนๆ กำลังฮิตกัน ยิ่งม.ต้น ร่างกายกำลังเปลี่ยนแปลงด้วยจึงมีความอ่อนไหวทางจิตใจสูง จิตใจเปราะบาง การจัดการศึกษาจึงไม่ควรบังคับเรียน ม.ต้น แต่ต้องให้เรียนฟรี เมื่อต้องการเรียน การเรียนฟรีที่เด็กพร้อมเรียน ครอบครัวสนับสนุน คัดกรองเด็กที่ไม่พร้อม หรือครอบครัวไม่พร้อม เข้าสู้กระบวนการอื่น เพื่อเพิ่มนิสัยความรับผิดชอบตนเองและสังคมจากการเรียนรู้ในระบบการงานอื่น ๆ
27/4/2559
ฤาว่ากฎหมายจะสอนศีล 5 (ข้อ 4)ได้ผลดีกว่าพระภิกษุสงฆ์ จากกฎเกณฑ์และวิธีการที่ กกต.ออกกฎเหล็กมา 8 ข้อนี้ และความเข้มงวดในการบังคับใช้ขณะนี้ ทำให้เกิดข้อคิดใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นอย่างชัดเจนมาก่อน ว่า ในสภาพสังคมปัจจุบันการพูดจาสามารถโพลงออกมาง่าย ๆ ตามสัญชาตญานมีผลต่อสังคมโดยกว้าง แล้วทำไมพระภิกษุสงฆ์ไม่สามารถสอนศีล 5 อย่างได้ผล ความรู้ใหม่ที่ชัดเจนบอกว่า พระสอนหลักธรรมได้ผลน้อย ๆ มาก ๆ ตรงกันข้ามพระภิกษุสอนเรื่องการแสดงออกตามสัญชาตญาณได้ผลยิ่งกว่า เกินคาด ผ่านสิ่งที่ผู้คนชอบมากมาย สัญชาตญาณผ่านสิ่งที่พระภิกษุให้ชาวบ้าน คือ เครื่องปลอบจิตในการต่อสู้ภัย ความปลอดภัยในชีวิต ที่นำไปสู่ความยึดมั่น หลงทาง และแล้วก็แสดงออกมาทางการผิดศีล 5 ตรงข้ามกับคำสอนที่พระภิกษุสอนนั่นเอง (โลกโซเชียล สนองวจีทุจริต ของขลังประเภทอยู่ยงคงกระพันสนองสัญชาตญาณ)
30/4/2559
วัดพระธรรมกาย และ วัดสวนแก้ว มีวัฒนธรรม หรือ บรรยากาศการบริหารเงิน บริหารทุนที่มีองค์ประกอบต่างกัน จึงมีมุมมองที่ต่างกัน ความต่างกันจึงต่อว่ากัน ต่อว่ากันเพื่อแสดงว่ามีความต่างกัน เมื่อสังคมมองว่ามีความต่างกัน สังคมจะวิจารณ์วิภาคว่าต่างกัน ให้คุณให้โทษต่างกัน สังคมไทยกำลังถกเถียงกันเพราะทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด วิธีการแสวงหาทรัพยากรที่มีความต่างกัน ทั้งการบริหารทรัพยากรได้มีผลสัมฤทธิ์ต่างกัน หน้าตาผิวพรรณต่างกัน บุคลิกต่างกัน ทัศนคติต่างกัน ความสุขต่างกัน จึงขัดแย้งกัน มีการยกเรื่องคำสอนทางศาสนามาถกกันว่าต่างกัน ให้คำสอนทางศาสนาตกเป็นจำเลยของความขัดแย้งกัน แสดงออกให้ปรากฏว่าฉันถูกเธอผิดด้วยบรรยากาศแห่งการเสียดสีต่อว่ากันว่าผิด ถูกเหยียดหยามกัน รังเกียจกัน
5/6/2559
- ความเป็นเจ้าอาวาสกระตุ้นเร้าให้คิดว่า ตำแหน่งนี้อยู่บริหารวัด บริหารองค์กรได้ด้วยทรัพย์สินทรัพยากรของผู้คนจำนวนมาก หลากหลายฐานะและความนึกคิด หลายท่านเสียสละได้ด้วยการฝึกตัดใจ ตัดประโยชน์ในบ้าน ตัดแล้วตัดอีกกว่าจะขาดได้ ด้วยการทุ่มเท ทุ่มเทแล้วทุ่มเทอีก เพื่อวัดเจริญรุ่งเรือง เจริญตาเจริญใจ #การบริหารทุนทรัพย์ทางศรัทธา จึงต้องให้เกิดความคุ้มค่า คงทน มาตรฐาน คุณภาพ เมื่อใดสิ่งของในวัดหายไปก็กังวลได้ง่าย ๆ เมื่อจัดเก็บไม่ดีก็คิดมากด้วย เมื่อเสียหายก็อายผู้คน เมื่อตัดสินใจพลาดไปก็อ่อนแรง เมื่อประโยชน์ยังไม่เกิดเต็มที่ก็เกรงใจ....(ลองดึงความคิดบางครั้งมาบันทึกไว้)
17/6/559
วัฒนธรรมองค์กร 1 วิธีการคิด 1 2 ลักษณะนี้ 2 ขนาดนี้ แม้จะคิดได้อย่างดีแล้ว รอบคอบแล้ว คิดได้ตรงกันแล้ว ผ่านที่ประชุมกันแล้ว แต่เมื่อนำ 2 อย่างนี้มาผูกติดเข้ากับการเลือกตั้ง หรือการปลุกเร้ากระบวนการทางประชาธิปไตย (การเมือง) ถ้าอยู่ตรงข้ามกับแนวทางแบบพรรคเพื่อไทย เลือกตั้งทีไรก็จะไม่สามารถชนะด้วยคะแนนเสียงได้ ตั้งแต่ปี 2540 คนไทยชนบทเปลี่ยนวิธีคิดจากมุมเดิม แต่คล้ายว่าทำแบบเดิม มุมเดิมชาวบ้านเลือกตั้งเอาคนมีอำนาจ หรือชอบใช้อำนาจ คนมีชื่อเสียง เพราะเกรงเขา กลัวเขา ด้วยไม่มีอำนาจต่อรองเลย แต่มุมใหม่เลือกตั้งเอาคนที่กล้าหาญ ซึ่งยอมใช้อำนาจตามประชาชนแนะนำหรือเชียร์ มิใช้แสดงอำนาจโดยลำพังของตนเช่นแบบเดิม คนเลือกตั้งส่วนใหญ่รู้สึกมีอำนาจ มีบทบาทต่อรองกับนักการเมือง ไม่กลัวว่าคนที่กล้าหาญจะลุแก่อำนาจ ประชาชนกล้าท้าทายต่อนิสัยนักการเมือง คนกล้ายิ่งดีจะได้เพราะกดดันให้ทำงานแทนตนได้ กล้าหาญแทนตนได้ หรือ เชียร์ได้ตามใจมวลชน ตรงข้ามคนที่คิดดี ทำดีได้ชัดเจนแล้วจนไม่ต้องรับฟังคนอื่น แม้งานออกมาดี สำเร็จง่าย ก็ขาดความตื่นเต้นของมวลชนที่จะได้แสดงออกแบบมีส่วนร่วม ( มุมที่หลายท่านอาจไม่ได้มอง)17/6/2559สถานการณ์ทางการเมืองไทยในช่วงนี้ (นับแต่ 22 พ.ค.57 เป็นต้นมา) เป็นสถานการณ์การเมืองแบบปะทะสร้างสรรค์ ขยับปรับตัว ค้นหาความสมดุลทางการเมือง การปกครอง เขย่า ร่อน หาองค์ความรู้ใหม่ สถานการณ์แบบหยอกเหย้า กระเซ้าแหย่ ตลกๆนิดๆ ทำขึงขังกันบ้าง กะเทาะสนิมไปด้วย ขัดเกลากัน ช่วยกันขัด นี่แหล่ะสถานการณ์ตื่นรู้ สังคมมีชีวิต ไม่ใช่สังคมตาย ที่รอเวลาเน่าเช่นน้ำที่ขังในภาชนะแคบ (ไม่นิ่งตามกฎไตรลักษณ์)
18/6/2559
เดินมาถึงนี่ได้อย่างไร (ขี้เกียจ) 1.ต้องการคุยน้อย ๆ คุยเท่าที่จำเป็น ฟังแบบไม่ยินดียินร้ายสบายกว่า 2.ต้องการคุยเบา ๆ สำเนียงเรียบ ๆ ถ้าเพิ่มเสียงจะรู้สึกตึง ๆ เครียด คุยเสร็จจะออกใจไม่สบาย 3.ไม่อยากแสดงอาการดีใจออกหน้า ออกรอยยิ้ม จะออกได้ก็ต่อเมื่อค่อย ๆ ออกตอบสนองคนที่อมสุขภายใน ถ้าเจอคนอมทุกข์ภายในและแสดงอาการชัดเจนจะเครียดตาม 4.ไม่กล้าพูดบอกแสดงความยินดีกับใคร แบบทันทีทันใด เห็นใครทำดีก็มีเพียงชื่นชมภายในใจอย่างเงียบ ๆ ยิ้มในใจ ยิ้มออกมากแบบเดิมยากมาก แสดงออกหน้าจะเครียด มองหน้าคนที่มีความเสียสละ ทุ่มเท สุจริต สบายใจ 5.ขี้เกียจออกไปนอกวัด ไม่กล้าเข้าสังคม ไม่ต้องการแสดงตัวตนในชุมนุม 6.การแสดงความเห็นเพื่อการพัฒนา ไม่มีพลังคิดพอ แต่คิดแบบรู้เท่าทัน รู้สึกสุขใจเรื่อย ๆ 7.รู้สึกขอบคุณสมาชิกกองบุญได้ดีขึ้น พอเข้าปีที่ 2 รู้สึกว่าสมาชิกลดความโลภได้มาก 8.เมื่ออยู่เงียบ ๆ หายใจลึก ๆ รู้สึกดี 9.ตื่นเต้นเสมอเมื่อใดที่ถอดความคิดตนเองเป็นตัวหนังสือได้
19/6/2559
(อดเขียนไม่ได้ เมื่อเกิดองค์ความรู้ใหม่) เฟซบุ๊ค ห้องเรียนของผู้เรียน ที่ให้ความตื่นเต้น เร้าการเรียนรู้ พื้นที่สาธารณะแห่งการพัฒนาจิตใจ อารมณ์ สามารถแสดงความรู้สึกนึกคิดอย่างใจกว้าง (ห้องเรียนใจกว้าง) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีอิสระปลดปล่อยจินตนาการ ความถนัดของตน เมื่อผู้เรียนได้เรียบเรียงความคิดของตนได้ ก็จะยกระดับการคิด ในสังคมหรือประเทศที่ใช้โซเชียลมากมาก่อนเรา มีผลให้ 1.วิธีคิดแบบเหมารวมลดลง ใครที่ชอบคิดแบบเหมารวมต้องทำใจไว้ว่า ความคิดของตนจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ 2. สังคมปัจเจกบุคคลเพิ่มขึ้น ต้องทำใจว่า รอยยิ้มในสังคมจะลดลงไปเรื่อยๆ 3.การให้ความสำคัญต่อสิทธิส่วนบุคคล หรือ สิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างหนักแน่น เพราะความหลากหลาย ความเป็นเอกลักษณ์ ของผู้คนที่ใช้ห้องเรียนห้องนี้นั่นเอง
20/6/2559
การเรียนรู้ผ่านเฟซบุ๊คบ่อย ๆ จะพัฒนาผู้เรียนให้ 1.ลดการคิดแบบเหมารวม ลดไปเรื่อย ๆ 2.มีความเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้นตามลำดับ 3.จะเคารพสิทธิเสรีภาพของตนและผู้อื่นมากขึ้น (เมื่อได้แสดงอารมณ์ดิบบ่อย ๆ ก็เริ่มที่จะไตร่ตรองมากกว่าเดิม กลายเป็นคนมีเหตุผลมากขึ้นมากกว่าอารมณ์ ) มองเรื่องยาบ้า ควรมองเชิงจิตวิทยา ถ้ามองเชิงตรรกศาสตร์อาจพลาดในวิธีคิดได้
21/6/2559
กร่อน ห่างไกลจาก "พระนักพัฒนา" ขึ้นเรื่อย ๆ หลังเผยตัวตนออกสู่ที่แจ้ง ไม่ต้องพะวักพะวงกับภาพลักษณ์เก่า ความขี้เกียจนี้คล้ายกับว่า ปล่อยวาง จิตสงบ หายใจได้ลึก ๆ นาน ๆ มากขึ้น ถ้าจะมีข้อความในเฟซบุ๊คอยู่ ก็ขอแสดงบทบาทที่เข้าใจตนเองว่าเป็นผู้รู้ทันเหตุการณ์เท่านั้นนะ
21/6/2559
(อวดหน่อยว่ารู้ทันนิดๆ)ไม่สนับสนุนการด่ากันไปมานะ เพราะการด่ากันให้เจ็บใจ เป็นการก่อเวร มันไม่จบกันได้แบบง่าย ๆ ถ้าจะจบก็จบแบบตัดความรำคาญเท่านั้น แปลกไหมน่าคิด 1.คนที่ด่าหรือต่อว่าคนอื่น จะคิดว่าตนเองกำลังทำถูกอยู่ ส่วนคนตรงข้ามผิด 2.คนด่าขณะนั้นจิตเขากำลังหยาบกระด้าง กว่าผู้ที่ถูกด่า คนถูกด่าไม่ทันตั้งตัว ตนกำลังอ่อนแออยู่ เลยรับเอาอารมณ์ของคนด่าไปเต็ม ๆ เรียกว่า เผลอให้เขารุกราน 3.ถ้าคนถูกด่าแสดงอาการอ่อนแอตอบสนองคนด่า คนที่ด่าจะดีใจว่าเห็นไหมล่ะ ฉันด่าถูกแล้ว เขายอมรับความผิดออกมา ด้วยอาการน้อยใจ (ความอ่อนแอเป็นอาหารทางอารมณ์ของผู้แข็งกระด้าง) 4.ถ้าคนที่ถูกด่าเกิดโมโห หรือโกรธ โทสะ แสดงอาการดิบกลับ คนที่ด่าก่อนก็หวั่นไหวว่าจะเสียมากกว่าได้ จึงไตร่ตรอง หาทางหลบดีกว่า แล้วคิดว่า ไม่ต่อสู้กับคนพาลหยาบช้าดีกว่า ไม่ควรเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ ด่ากับมันเปลืองตัว ไม่ได้ห้ามว่าอย่าด่ากันเลย เพียงบอกว่า ด่ากันก็ให้ตามทันความจริงของใจด้วย การติติง การแนะนำ การโต้ตอบ การชี้แจง การอธิบาย ถ้าคนฟังมีจิตใจที่อ่อนแอ ก็คิดว่า เป็นการด่าได้ จิตวิญญาณของความเป็นหัวใจประชาธิปไตย จึงมีความสำคัญต่ออารมณ์ผู้คนในสังคมอย่างยิ่ง
22/6/2559
ศีลธรรมแบบศาสนา ย่อมมาจากศีลธรรมสมัยใหม่ (ปัจจุบันของเวลานั้น แต่ต้องเป็นสังคมแบบปรึกษาหารือกัน แนวระนาบเท่านั้น สมัยใหม่ยึดหลักบรรยากาศที่สอดคล้องกับสมัยใหม่ทางกาลเวลา) ก่อนจะมีผู้พิเศษ ศีลธรรมสมัยใหม่ไม่สามารถดำรงอยู่ได้เพราะผู้ฟังตามผู้นำพิเศษ ปักใจเชื่อว่า ศีลธรรมนี้มาจากผู้นำพิเศษรู้ผู้เดียว จึงง่ายต่อการไหลรวมของความเชื่อ
ศีลธรรมแบบศาสนา ควรปรับกระบวนการกลับสู่ความเป็นดั้งเดิมของการเรียนรู้ร่วมของสังคม ซึ่งอาจเรียกว่า เรียนรู้ร่วมเป็นประชาธิปไตย
จากแนวคิดนี้ ศีลธรรมย่อมเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมที่เป็นปัจจุบัน เน้นว่า เป็นปัจจุบัน (ศีลธรรมสมัยใหม่) ศีลธรรมแบบศาสนา เกิดขึ้นตามหลังศีลธรรมสมัยใหม่เสมอ เพียงแต่ว่า ศีลธรรมแบบศาสนา อยู่ในสังคมที่สร้างองค์ความรู้ทางศีลธรรมแบบปักใจเชื่อ
ศีลธรรมเดียวกัน แต่บรรยากาศในการผลิตองค์ความรู้ต่างกัน ศีลธรรมสมัยใหม่ ใช้วัฒนธรรมเรียนรู้แนวระนาบ หรือประชาธิปไตย ประกอบพุทธิจริต ผ่านธรรมวิจัยในการ สร้างองค์ความรู้ ศีลธรรมแบบศาสนา จะตรงข้ามกัน มีศรัทธาจริต สร้างองค์ความรู้ การใช้ ศีลธรรมสมัยใหม่เพื่อสนับสนุนศีลธรรมแบบศาสนา ย่อมมีองค์ความรู้ที่ต่างจาก การใช้ศีลธรรมแบบศาสนาเพื่อสนับสนุนศีลธรรมสมัยใหม่
22/6/2559
(ขออนุญาตรู้ทัน) ภาพนี้เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 1 ท่าน แต่การตัดสินใจที่มาจากมุมมองของผู้ให้ข้อมูล 2 กลุ่ม คนที่ให้ข้อมูล 2 กลุ่มนี้ มีสภาพจิตใจไม่เหมือนกัน กลุ่มหนึ่งมองไปที่คนติดยา คนขายยาแบบเข้าใจจิตใจ เห็นใจคน(คนปกติมองคนผิดพลาดด้วยเมตตา กรุณา) คนอีกกลุ่มมองวัดพระธรรมกายแบบตรวจสอบ สงสัย ชิงชัง ไม่พอใจคน(คนที่มีจิตถูกบีบคั้นด้วยทุกข์มองคนที่มีความปกติด้วยความเคียดแค้น ไม่พอใจ) 2 จิตใจ ตัดสินความด้วย 1 ท่าน ภาพนี้จึงเกิดขึ้นให้ย้อนแย้งกัน ลองเอาที่ปรึกษาแนวเมตตา แนวเข้าใจ จะแก้ไขปัญหาง่ายกว่านี้
22/6/2559
เจ้าของกิจการดูแลคนทั้งคนงานและคนซื้อด้วยบุญ ส่วนการปกครองคน บังคับคน เป็นหน้าที่ของหัวหน้าฝ่ายบุคคล รวยได้เพราะอาศัยบุญ คนขยัน คนซื่อสัตย์ คนใช้อำนาจ จะเป็นผู้ช่วย ผู้สนับสนุนหรือเป็นหุ้นส่วนของคนมีบุญ (คิดเล่น ๆ นะ อาจไม่จริงก็ได้)
22/6/2559
คราวที่คนไทยเริ่มใช้โทรศัพท์(ปี 2534) ได้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรง เช่นกันกับ คราวเมื่อคนไทยเริ่มใช้โลกโซเซียล มีเฟซ มีไลน์ เป็นต้น (ปี 2547-2553) ก็เกิดขัดแย้งและความรุนแรงที่กว้างขวางขึ้นตามลำดับ เหมือนภูเขาไฟระเบิด (ระเบิดจากภายใน) หรือ แผ่นดินไหวที่ตามด้วยอาฟเตอร์ช็อค
เมื่อเริ่มสื่อสาร ก็เริ่มรุนแรง จากคีย์บอร์ดสู่พื้นถนน รุนแรงจากจิตก่อนแล้วไปสู่การลงมือ ลงไม้
เมื่อกลับออกจากพื้นถนน ก็รุนแรงหน้าคีย์บอร์ด การใช้โลกโซเซียลแสดงออกอย่างรุนแรงรอบหลัง เป็นการระบายตัวตนหน้าหมอจิตแพทย์ พื้นที่ระบายเพื่อลดทอนความรุนแรงทางกายภาพ
(ความจริงของจิตใจ)
24/6/2559
ดีใจกับคนไทยด้วย ไม่ได้ประชดนะ สถานการณ์นี้บังคับให้คนไทยได้เรียนรู้อย่างมีกึ๋น คนไทยจะได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้ง ไม่ประมาทด้วยคำสอนที่ปลูกฝังความคิดมาแบบประมาทมาอย่างยาวนาน เลิกภูมิใจที่แทรกไว้ด้วยความประมาทเถิด เลิกภูมิใจกับคำสอนที่ว่า "ประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศใด" คำสอนทำนองนี้มีมากมายที่กล่อมคนไทยให้ถือตัวตนหรืออ่อนแอในสังคมโลกสมัยปัจจุบัน ตกใจมากไปก็ระสำ ไม่ตกใจเสียเลย เฉื่อยและประมาท
24/6/2559
รูป อายตนะภายนอก ตา เป็นอายตนะภายใน สังขารขันธ์ คือ การปรุงแต่ง จะปรุงให้ขัดแย้งก็โน้มนำไปสู่ความขัดแย้ง จะปรุงให้เกิดความสามัคคีก็โน้มนำไปสู่ความสามัคคี จะสุข จะทุกข์ อยู่ที่การปรุง
ภาพแสดงตนว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของนักการเมืองที่สำคัญนี้ เป็นแรงเสียดทานของผู้จะรับร่าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเรียนรู้ เพิ่มความรับผิดชอบ เพิ่มสติปัญญาแก่ผู้จะรับร่างอย่างยิ่ง ประเทศจะเข้มแข็ง แข็งแรง ต้องอาศัยสติปัญญาของชนในชาติ ทั้งผู้จะไม่รับร่าง และ ผู้จะรับร่างต่างได้โอกาสในการคิดอย่างแหลมคมในขณะนี้
24/6/2559
เจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน หรือกรมดีเอสไอ ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมาก ในการตั้งเรื่อง เดินเรื่อง ขอหมายค้นวัดพระธรรมกาย ลูกศิษย์วัดพระธรรมกายก็ต้องใช้ความกล้าหาญ เสียสละมากๆ ในการออกมาแสดงตัวตน นายเรืองไกร ก็ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมากมาร้องเรียนดีเอสไอ เรื่องจริง เรื่องถูกต้อง สัจจธรรมต้องอาศัยการกล้าหาญในการกระทำทั้งนั้น (5555 อาตมา ก็ใช้ความกล้าหาญน้อยนิด มาเขียนให้อ่าน)
24/6/2559
ได้ถอดตนออกจากภาระการงานที่เคยมีอย่างคับคั่ง คงเหลือแต่งานเบา ๆ ที่ทำได้แบบเดี่ยว รู้สึกเบากาย เบาใจอย่างยิ่ง หายใจได้แผ่วๆ สบาย ๆ เมื่อเห็นผู้ทุ่มเทในการงานที่มีภาระหนัก เข้าใจสุดซึ้งถึงความทุ่มเท ความเหน็ดเหนื่อยของท่านเหล่านั้น สาธุๆๆๆๆ
30/6/2559
(บันทึกรองรับจุดผันแปร อนิจจัง) บูเช็คเทียน ฮ่องเต้หญิงแห่งจีน ผ่านหนัง ผ่านนักแสดง สื่อให้เข้าใจ ซาบแทรก แนวคิด จิตใจ ที่เปี่ยมความรัก ภักดีกตัญญู อ่อนแอ อ่อนไหว ใจกว้าง ออกนอกกรอบ เฝ้าฟังเสียงแห่งความทุกข์ร้อนของชนหมู่มาก เปิดทางร่วมคิด ร่วมสำเร็จ หวังความสงบสุขสันติของหมู่คน
1/7/2559
คุยเบา ๆ พูดน้อย ๆ ปล่อยให้เข้มแข็ง แสดงบทเจ้าอาวาสเท่าที่จำเป็น ดูแลเฉพาะงานที่ยังไม่มีใครทำได้ ปัดป้องทิศทางสากล
4/7/2559
วัดเป็นของชุมชนและ เป็นของผู้บริจาค ความเป็นเจ้าของวัดของอาตมภาพจึงได้ลดลงไปตามสถานการณ์สังคม อันที่ควรจะเป็นในสังคมสมัยใหม่ ขอแสดงความรู้สึกเป็นเจ้าของวัดเท่า ๆ กับพระในวัด เท่า ๆโยมที่บริจาคสร้างวัด และ โยมที่ดูแลวัด อาจจะยังคงการกำหนดทิศทางแห่งความเป็นวัดในสมัยใหม่เท่านั้น(รีเซตองค์กร)
10/7/2559
ในฐานะเป็นเจ้าอาวาสที่มีจิตใจอ่อนไหว หวั่นไหว (โลกธรรม 8 ยังมีอิทธิพลต่อจิตใจ) มักจะซาบซึ้งถึงจิตใจผู้บริจาค ผู้เสียสละง่ายและเร็ว เห็นใจล่วงหน้าถึงยามที่ผู้บริจาคหรือผู้เสียสละจะเกิดเหตุทุกข์ร้อนใจขึ้น ตระหนักเสมอ ๆ ถึงผู้มีจิตศรัทธาที่บริจาคให้กับวัด ใจฟ้องเสมอ ๆ ว่าต้องตอบแทนหรือทำการที่ดีที่สุด เพื่อผู้บริจาค ผู้เสียสละ ด้วยการรักษาศรัทธาของโยม หวังหล่อเลี้ยงจิตใจให้ชุ่มในบุญ กุศล ความยุติธรรม จึงต้องมีการก่อสร้างให้เร็ว ทำผลงานให้ชัด ใช้เงินให้เกิดประสิทธิภาพ โปร่งใส
มักจะกังวลง่าย เมื่อการงานไม่เรียบร้อย งานยังไม่เสร็จสิ้น หรือการงานมีข้อผิดพลาด กังวลยิ่งนักเมื่อมีผู้คนในสังคมพูดว่า เป็นพระที่เห็นแก่ได้ คิดแต่จะเอาอย่างเดียว
วัดเป็นของชุมชน แนวทางการให้โยมในชุมชนร่วมเสียสละ ร่วมทำงานให้ได้งานที่ดี ให้ได้คุณภาพ คิดว่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้อง การป้องกันการใช้ของฟุ่มเฟือย ใช้ของไม่ถนอม ใช้ของเสื่อมค่าเร็วกว่ากำหนด หรือเบียดบังสิ่งของวัด กับการให้มีส่วนของชุมชน 2 แนวทางนี้ต้องคิดหนัก ต้องระวัง
เหตุการณ์เล็กน้อย เช่น ช้อนขาดหาย ทัพพีขาดหาย จานขาดหาย ของในครัวหาย หรืออุปกรณ์อื่น ๆในวัดสูญหาย จึงคิดหวั่นใจว่าโยมบางคนในชุมชนไม่รักวัดจริง ขาดการเสียสละ ขาดการเป็นเจ้าของวัด
การที่ต้องหาเงินบริจาคบ่อย ๆ เพื่อใช้จ่ายเสียทุกอย่าง เป็นภาระหนักทางจิตใจของเจ้าอาวาส เมื่อผลงานในวัดออกมาระดับหนึ่งแล้ว เจ้าอาวาสจึงควรจัดกิจกรรมเพื่อรับบริจาคเท่าที่จำเป็น เพื่อจะได้ลดความรู้สึกกังวล ถ่ายโอนความรับผิดชอบสู่กรรมการวัด หรือชุมชน ให้เป็นองค์กรธรรมาภิบาล ทำงานเป็นทีมพุทธบริษัท
มักคิดเกรงว่าจะได้ไม่คุ้มเสีย ความจริงควรที่จะดีขึ้นตามลำดับ
แผนการทำงานกับคนรอบวัด ควรที่จะไม่ให้คนรอบข้างคุ้นชินแบบคนใกล้ชิดหลวงปู่ซึ่งมีตัวอย่างมาหลายรูป คือ ประมาทในการใช้ทรัพย์ มักใช้แบบฟุ่มเฟือย
เมื่อวัดรวย พระรวย คนรอบๆ จะเสียนิสัย
ก่อนนี้การบริหารวัดก็อาจจะคล้ายการทำการตลาดเหมือนกัน บางครั้งต้องกล้าเสี่ยง (หลายครั้งที่สูญเสียจริง ๆ ) กล้าสร้างกิจกรรม กล้านำ การนำเสนอให้ตื่นเต้น ให้น่าติดตาม เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามความปรารถนาของผู้บริจาค ผู้เสียสละ หรือสังคมชาวพุทธ
บัดนี้ มีอะไรๆ เช่น อาคารเสนาสนะ วัตถุอุปกรณ์ องค์ความรู้ มากพอควรแล้ว จึงต้องลดความเสี่ยง ลดความกังวล โดยให้โยมวัดมีส่วนร่วมรักวัดแบบเป็นเจ้าของวัดจำนวนมากขึ้น ช่วยกันเพิ่มลมหายใจที่หายใจเข้าออกลึก ๆ ยาว ๆ ดูแลธาตุ 4 ให้มีความสมดุล เป็นคนพุทธแบบมีคุณภาพชีวิตที่ดี
10/7/2559
รัฐกำหนดทิศทางการพัฒนาการศึกษาและสังคมผ่านสถานศึกษา โดยกำกับให้มีโรงเรียนแนวทางประชารัฐขึ้น เลยต้องคิดต้องตรองลองทำดูว่า แนวทางวัดประชารัฐ จะเป็นเช่นไร วัฒนธรรมเดิมของวัดเป็นประชารัฐแล้วหรือยัง หรือว่ายังอ่อนอยู่ พอจะทำอะไร ๆ ได้มากกว่านี้ ที่จะเป็นวัดประชารัฐได้มากกว่านี้ แนวคิดวัดประชารัฐ ต้องคำนึงถึง เรื่อง ศีลธรรมสมัยใหม่ และ เรื่อง ความสอดคล้องกับการพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตย 2 เรื่องนี้อย่างสำคัญ เพราะว่า ถ้าการมีส่วนร่วมแบบที่ละเลยการพัฒนาศีลธรรมสมัยใหม่ และแนวทางวัฒนธรรมประชาธิปไตยแล้ว วัดอาจจะเป็นองค์กรที่ไม่ตอบโจทย์สังคมไทยในอนาคตก็เป็นได้
12/7/2559
มายาคติ ประเด็นนี้แหลมคมนักที่จะต้องถกกันให้เห็นแง่มุมที่ชัดเจน อยากให้ทุกฝ่ายช่วยถกกัน 1.ประชาชนเป็นเครื่องมือของนักการเมือง/พรรคเพื่อไทย หรือ นักการเมือง/พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือของประชาชน 2.ชาวบ้านชั้นล่างต่อสู้กับชนชั้นกลางหรือชั้นผู้นำ ผ่านพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกันชั้นชั้นบนรักษาฐานทรัพยากร บทบาท ผ่านพรรค หรือ ผู้นำแบบอำนาจนิยม อนุรักษ์นิยม รื้อถอดมายาคติการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยจะไม่บิดเบี้ยว หรือเนิ่นช้า
14/7/2559
วัด องค์กรพระพุทธศาสนาในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ แนวทางในการบริหารวัดด้วยธรรมาภิบาล คือ เปิดเผยรายรับรายจ่ายประจำวันเป็นปัจจุบันผ่านเว็บไซด์ จัดทำแผนบริหารและพัฒนาวัด ระยะ 1 ปี ระยะ 3 ปี และระยะ 10 ปี ถ้าแผนไม่ออกมา เจ้าอาวาสไม่พึงทำการใด ๆ ยศบรรดาศักดิ์ เป็นของวัดและเป็นของชุมชน มิใช่ของพระภิกษุ ก ข ค ง (ปรับตัวจากง่ายไปหายาก จากสิ่งที่เป็นมีอยู่สู่เรื่องที่ยังไม่มี)
15/7/2559
(ร่าง) ธรรมนูญวัดสะเดารัตนาราม ๑๖/๗/๒๕๕๙
๑. ธรรมนูญวัดสะเดารัตนาราม ได้มาโดยการฟังความคิดเห็นของชุมชนและผู้รู้/นักคิด /ปราชญ์สังคมยุคศีลธรรมสมัยใหม่ และผ่านการเห็นชอบของพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ชุมชนวัดสะเดารัตนาราม
๒. การบริหารจัดการวัดสะเดารัตนาราม บริหารจัดการแบบองค์กรชาวพุทธ เป็นพุทธบริษัท คือ พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา เจ้าอาวาสช่วยกำกับวัดให้เป็นไปตามธรรมนูญวัด
๓. ให้จัดทำ/ให้มี แผนบริหารจัดการและพัฒนาวัดสะเดารัตนาราม เป็น ๓ ระยะ คือ ระยะ ๑ ปี ระยะ ๓ ปี และระยะ ๑๐ ปี โดยมีการปรับปรุงแผนฯทุกปี การจัดทำแผนฯ มีการรับฟังและมีส่วนร่วมของชุมชนมากที่สุด
๔. วัดยึดมั่นในวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๖ วิธี ตามพุทธโอวาทปาฏิโมกข์ แต่ไม่ขัดแย้งกับการทำหน้าที่กัลยาณมิตรด้วยหัวใจเป็นมนุษย์
๕. วัดใช้กระบวนการชุมชน หรือกระบวนการชุมชนดั้งเดิม ช่วยขัดเกลาบุคลิกภาพพระภิกษุ สามเณร ในบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกัน เรียนรู้ในระนาบเดียว สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้
๖. การเขียนธรรมนูญวัดสะเดารัตนาราม เป็นลายลักษณ์อักษรได้เท่าที่จำเป็นที่สุด ธรรมนูญวัดที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรจำนวนมากให้สอดคล้องกับหลักธรรม มโนสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์ หลักมนุษยธรรม สอดคล้องกับธรรมชาติและสถานการณ์ ตระหนักให้ธรรมนูญวัดเป็นแนวทางวิถีชุมชน วิถีวัฒนธรรมชุมชน วิถีวัฒนธรรมแห่งการขัดเกลาเรียนรู้ ปรับตัวง่าย ๆ
๗. หลักธรรมสำคัญในการบริหารจัดการวัด มี ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ไตรลักษณ์ ๓ อริยสัจ ๔ เป็นตัน
จะบอกว่า ถ้าชุมชนออกแผนแผนบริหารจัดการและพัฒนาวัดสะเดารัตนาราม 3 ระยะ คือ 1ปี 3ปี 10 ปี ได้
หลวงพี่อาจจะขยันกลับมา
ตอนนี้เจอทางตัน
เหมือน ปี 36 เจอทางตันในการพัฒนาวัด เลยต้องออกไปเรียน
ตอนนี้มีความรู้มาก มีประการณ์มาก แต่มาเจอทางตันอีก เดินต่อไม่ได้
วัดเจริญกว่าชุมชน ความรู้ล้ำหน้า ชุมชนตามไม่ทัน
ถ้าทำทำต่อไป ก็จะมีผลเสีย
ไม่คุ้มกับที่ควรจะได้
ชุมชนต้องร่วมวางแผนอย่างมีขั้นตอนจึงไปได้อีก
สิ่งที่ทำมาแล้ว แต่ออกจะไม่ยั่งยืน ในอนาคต
ศีลธรรมสมัยใหม่ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการ
เขียนแผนร่วมกันแล้วเดินตามแผน จึงจะยั่งยืน
แผนก็ต้องมาจากการยอมรับของคนจำนวนมากก่อน
เลยต้องรอแผน รอความพร้อม
ตัน เลยไปไม่ถูก
คงจะเริ่มพิมพ์ให้อ่านก่อน
หลวงพี่เขียนแผนให้
แต่ความคิดต้องออกจากชุมชน มาจากโยม ๆ จำนวนมาก
หลวงพี่เขียนให้ จัดกระบวนการให้ เมื่อแผนออกก็กำกับให้บรรลุแผน
โยมๆ อยากให้วัดเป็นอย่างไร ยอมรับกันไหม ระยะเวลาที่ทำ ทำอย่างไร ใครร่วมทำบ้าง
หลวงพี่คอยกำกับแผน ตามที่ตกลงกันไว้
ที่ผ่านมาจัดว่าทดลองทำกัน
หลวงพี่จะพยายามไม่ลงมือทำเอง จะกำกับทิศทางให้เป็นตามแผน สอบถาม ไต่ถามแทน
17/7/2559
"ผูกขาดความรักชาติแต่ฝ่ายเดียว" คำนี้สำคัญมากในวิถีประชาธิปไตย ที่สำคัญคือความเข้าใจผิด สำคัญผิด ของความไม่เข้าใจว่าพื้นโลกเป็นเวทีกลางของผู้คนที่หลากหลาย เป็นรอยต่อเชื่อม ทางแยกระหว่างสุคติ และ ทุคติ แผ่นดินที่ทำดีได้มากที่สุด และทำชั่วได้มากที่สุด แต่สังคมที่อยู่ด้วยกันอย่างสันติสุขจะต้องไม่สุดโต่งเรื่องดีหรือชั่ว สังคมใหญ่ที่หลากหลายควรคุยกันได้แบบเรื่องหยาบ ๆ เรื่องปาก ท้อง ทรัพยากร การดำรงชีวิต เรื่องปรัชญาดีชั่วเป็นความอ่อนไหวทางสังคมกระทบศักดิ์ศรีความเป็นคน(มนุษย์) การเรียนรู้ร่วมกันในระนาบเดียวจึงเหมาะกับผู้คนในพื้นโลก
ความดี ความชั่ว ไม่ควรนำมาอธิบายกับสังคมประชาธิปไตย ควรใช้เรื่อง ยุติธรรม หรือ ไม่ยุติธรรม จะชัดเจนกว่า
23/7/2559
7 สิงหา ชาวประชาลงประชามติ รู้สึกสัมผัสได้ถึงการยกระดับวิธีคิดของชาวบ้านว่าจะมีความเป็นพลเมืองมากขึ้น ใคร่เรียนรู้มากขึ้น อยากเป็นคนสำคัญของสังคมประเทศชาติ สนใจข่าวสารผ่านเฟส ไลน์ ทีวี และมีอีกอย่างสังคมชนบทเปลี่ยนไป จะกลายเป็นวัฒนธรรมประชาธิปไตยมากขึ้น คือ ไม่ต่อว่ากันในเรื่องการตัดสินใจ เคารพความคิดเห็นของแต่ละคนมากขึ้น กล้ารับผิดชอบในการตัดสินใจของตน
3/8/2559
กรธ.ตั้งใจร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ดีที่สุด ใช้ได้ตลอดกาล เหมาะสมกับสังคมไทย สปท.ก็อยากได้ร่างที่ดียิ่งขึ้น จึงต้องใส่เรื่องการปฏิรูป เรื่องยุทธศาสตร์ให้สำเร็จในครั้งนี้ สนช.คิดต่อ ถ้าจะให้การปฏิวัติไม่เสียของ ต้องช่วยให้ คสช.มีบทบาททำงานต่อไป จึงพากันต้องผลักดันให้สุดซอย แม่น้ำทั้ง 5 สายต่างช่วยกันเสนอแนวทางที่ดี ๆ ต้องการสิ่งดีๆ ดีให้มากที่สุด ดีให้คุ้ม ผลจึงออกมาว่า ยิ่งใส่สิ่งที่ดีของคนจำนวนน้อยลงไปมากเท่าใด ก็ยิ่งกีดกันคนส่วนมากในสังคมให้ห่างออกไป ความดีที่เกินพอดี ดีล้วน ๆ จนนุ่มเหลวเยิ้ม กลายร่างจากพอดีเป็นเกินพอดีสำหรับวัฒนธรรมสังคมแห่งการเรียนรู้ตามหลักประชาธิปไตย
3/8/2559
หายใจลึก ๆ แผ่ความปรารถนาดีสู่คนไทยทั้งประเทศ เพื่อบูรณาการสร้างสุข ท่านที่รับร่าง/คำถามพ่วง และ ไม่รับร่าง/คำถามพ่วง แต่ละท่านได้บริหารสติปัญญาของตนแล้ว เซลล์สมองของท่านได้ขยับขับเคลื่อน ขยายเซลล์ด้วยดีแล้ว ยกระดับการเป็นคนที่มีเหตุผลตามวัฒนธรรมประชาธิปไตยแล้ว ได้เคารพสิทธิ์กันและกันแล้ว เมื่อมองไปข้างหน้าก็ช่วยกันมองหาแนวทางที่จะอยู่ร่วมกันแบบลดการเอาเปรียบกันและกันให้มากขึ้น ช่วยกันจัดการปัจจัย 4 บนพื้นโลกที่มีอย่างจำกัดเพื่อประโยชน์ในการดูแลธาตุ 4 คือ ร่างกาย ให้มีสมดุลต่อไป
8/8/2559
ตั้งแต่นี้ไป ขอ กรธ.ได้เปิดกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนได้ร่วมเขียนกติกาของประเทศเพื่อจะแนวปฏิบัติร่วมกันต่อไป (กฎหมาย เป็นข้อตกลงร่วม) และขอให้ แกนนำชุมชนฐานราก ขบวนองค์กรชุมชน จิตสาธารณะผู้เริ่มเติบโตมาจากกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม(ซิฟ) แต่ปี 2540 แสดงบทบาทในการให้ข้อคิด มุมมองต่อร่างกฎหมายต่าง ๆ ที่มีผลต่อชุมชนระดับตำบล
แกนนำชุมชนฐานราก หรือ ผู้นำขบวนองค์กรชุมชน เขามองบวกกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นะ เพราะมีการวางแนวทางที่จะระเบิดจากภายในของแต่ละพื้นที่ตำบล
เคยฟังแกนนำชุมชนภาคอีสานท่านหนึ่งเขาคุยเมื่อ 10 ปีที่แล้วว่าจะมีการปรับวัฒนธรรมการเมืองข้างบน ลดบทบาทการเมืองหลัก พรรคการเมืองที่มีแต่การต่อสู้กัน ให้เป็นการเมืองแบบชุมชน การเมืองในวิถีชีวิต
หลัง ปี 2550 มีการขยับการเมืองแบบแกนนำชุมชนอย่างต่อเนื่อง
ในยุคสมัยนี้ นักการเมือง หรือ ทหาร ก็กำหนดทิศทางตามใจแบบเดิมไม่ได้ การเมืองภาคประชาชน องค์กรจัดตั้งผ่าน พอช.มีพลัง
การเมืองของขบวนองค์กรชุมชน คือ การสร้างเวทีกลางทุกระดับ การเมืองแบบวัฒนธรรม ปรับความสัมพันธ์กันใหม่ทางสังคมและเชิงโครงสร้างการเมือง
กำนันสุเทพ เป็นหัวโขนให้การผลักดันการเมืองภาคประชาชนมีพลังขึ้น ขบวนชุมชน ขบวนจังหวัดจัดการตนเอง ลดบทบาทการเมืองข้างบน เพิ่มอำนาจการเมืองแบบชุมชน หรือ อำนาจประชาชน
ลดความขัดแย้งของการเมืองเชิงโครงสร้าง สร้างการเมืองฉันทามติ ปรึกษาหารือกัน
กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม(SIF) ปี2540 จุดระเบิดสร้างผู้นำชุมชนจิตสาธารณะระดับจังหวัด รัฐธรรมนูญ 2540 ระเบิดประชาธิปไตยแนวราบ กองทุนหมู่บ้าน 2544 สร้างผู้นำชุมชนทุกหมู่บ้านแทนที่ NGO พรฎ.จัดตั้ง พอช.2546 สร้างผู้นำชุมชนระดับจังหวัด ระดับประเทศ พรบ.สภาองค์กรชุมชน 2551 พรบ.สวัสดิการชุมชนตำบล 2551 พรบ.สภาพัฒนาการเมือง 2551 สร้างนักการเมืองแบบจิตอาสาจำนวนมาก การเมืองที่ปรับเปลี่ยนนักการเมืองแบบเดิม ๆ
9/8/2559
หลายท่านที่มองสังคมไทยชัด แต่ท่านยังไม่ทราบมวลชนที่เคลื่อนตามแนวคิดนั้น อ.นิธิ ท่านหนึ่งที่มองสังคมไทยได้ชัด
หลวงพี่คลุกอยู่กับการเปลี่ยนแปลงแต่ปี 2540
แต่ละฝ่าย แต่ละฝั่ง มีทั้งจุดดี และจุดพลาด การมองสังคมแบบเหมารวมจึงเป็นมายาคติ
และหลายท่านฝ่ายเสรีประชาธิปไตยมองได้ชัดเจนเช่นกัน แต่ยังไม่เข้าถึงฐานราก
แดง เหลือง มีจุดร่วมเดียวกันหลายเรื่อง สำคัญคือมีสภาพจิตแห่งความตั้งใจสูง จุดพลาดคือมองจุดอ่อนของอีกข้างมากไป ลืมมองจุดเด่นหรือเจตนาดีๆ ที่ฝังลึกอยู่
มายาคติที่เคลือบกรอบนอกของเหลืองแดง คือ พื้นที่ที่ตั้ง พรรคพวกที่คบคุย หน้าตาที่ถูกยกย่อง
9/8/2559
การเมืองของการเลือกตั้ง เดิมชาวบ้านจะเลือกนักการเมืองยึดตัวบุคคลเป็นสำคัญ ต่อมาชาวบ้านหันเลือกนโยบายเป็นหลัก หลังจากนั้นก็กลายว่าพอมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองมากๆ ก็ติดยึดพรรคการเมือง การจะเปลี่ยนชาวบ้านให้เปลี่ยนการเลือกพรรคการเมืองเดิมที่เขามีส่วนร่วมนั้นแล้วจึงเป็นไปยากอย่างยิ่ง อย่างนี้ง่ายกว่า คือ ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกับพรรคเดิมให้มากขึ้นแล้วนำความคิดของชาวบ้านนั้นที่มีการพัฒนากระบวนการทางความคิดแล้วใส่ไปในพรรค แบบนี้ง่ายกว่าแยะ
9/8/2559
จากผลประชามติ ปี 2550 และผลประชามติ ปี 2559 นี้ ขออนุญาตสรุปแบบพันธงว่า ถึงจะมีการเปิดให้มีการณรงค์/ให้ข้อมูลอย่างเต็มที่ แบบสากล คนไทยส่วนมากก็เลือกผ่านประชามติอยู่ดี เพราะคนไทยส่วนหนึ่ง(ไม่แน่ใจว่ามากหรือน้อยแต่ก็ผสมไปกับฝ่ายรับ)ยังมีความคิดว่า ขอเลือกสิ่งที่มีอยู่ (กำขี้ดีกว่ากำตด) บางส่วนคิดว่าให้ผ่านก็ไม่ใช่เรื่องการเลือกตั้งพรรคการเมือง ข้อความกฎหมายเขียนอย่างไรก็สำคัญน้อยกว่าการลงมือปฏิบัติ ยึดแนวคิด ปรับตัว ปรับใจ ง่ายกว่าปรับเอกสาร แสดงความคิดแบบนี้ บอกให้รู้ทันจิตใจคนในชาติ แต่ไม่ต้องกังวลมาก เมื่อการเรียนรู้มาก ๆ ในอนาคตมายาคติบางอย่างจะค่อย ๆ ลดลง ยกระดับสู่เหตุผลแบบสากลเขาแหล่ะ จะหัวเสียกันไปทำไม ร่วมเรียนรู้กันต่อไป รอประชามติในสถานการณ์ปกติจึงจะได้สิ่งปกติ กระบวนการของขันธ์ 5 ไม่หยุดนิ่งกันหรอก
9/8/2559
เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว ต่อแต่นี้ไป วิธีการ วิถีหรือวัฒนธรรมนักการเมืองและพรรคการเมืองจะเปลี่ยนไป คือ นักการเมืองกับพรรคการเมืองในแต่ละเขตเลือกตั้งจะลดการแข่งขันกันเพื่อมุ่งหวังให้ได้คะแนนมากเป็นลำดับที่ 1 เพียงคำตอบเดียว แต่จะมีความยินดีมากถ้าได้คะแนนลำดับที่ 2 ด้วยคะแนนที่ใกล้ชิดกับผู้ได้คะแนนมาที่ 1 ถ้าแพ้เพียงคะแนนเดียวพรรคนั้นยิ่งดีใจใหญ่ พรรคการเมืองลดการช่วงชิงคะแนนจากชาวบ้านเชิงปริมาณ และจะยึดคะแนนเชิงคุณภาพมากขึ้น เสียงหรือคะแนนของชาวบ้านจะมีความสำคัญสูงสุด จะได้รับการเอาใจใส่จากนักการเมืองและพรรคการเมืองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนี้ ชาวบ้านจะถูกให้มีอำนาจทางการเมือง และกลายสภาพเป็นพลเมืองมากขึ้นตามลำดับ
10/8/2559
ความสุข ความทุกข์ ของนักเลือกตั้ง พรรคการเมือง ผู้สนับสนุน เปลี่ยนไป
เดิม มีความสุขเมื่อชนะการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง ดีใจกระโดดโลนเต้น ร้องรำทำเพลง เลี้ยงฉลอง หน้าระรื่น จะทุกข์แสนสาหัส ถ้าแพ้ด้วยคะแนนนิดเดียวในเขตเลือกตั้ง หน้าตรมหมองเศร้า เสียศักดิ์ศรี มุดหน้าหลบสายตา
ต่อไปนี้ ฝ่ายที่คะแนนมาที่ 1 ในเขตเลือกตั้ง ไม่เชิดหน้าต่อว่าฝ่ายแพ้ ฝ่ายที่มาลำดับที่ 2 ผู้สมัครได้คำชมจากพรรค จากผู้สมัครบัญชีรายชื่ออย่างมากมาย ประชาชนจะลดการแข่งกัน ต่อสู้กัน เพื่อเอาคะแนนมาพนันขันต่อ หรือกดขี่กันและกัน ยกต่อข่มท่าน
10/8/2559
ครรลองวิถีสังคม เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ ที่จะต้องลุกขึ้นมาวางแผนร่วมกันเพื่อการดำรงชีวิตท่ามกลางสภาพทรัพยากรสำหรับการเลี้ยงดูชีวิตมีอยู่อย่างจำกัด
หลังจากมีการลงประชามติแล้ว การแสดงออกมีการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่าง ๆ จะคึกคักขึ้น ตามลำดับ เพียงแต่ว่ารอบนี้ทุกพรรคการเมืองต้องคำนึงถึงความสมานสามัคคีกัน ยึดประเด็นความยุติธรรม ลดการเอาเปรียบกันและกันของผู้คนในประเทศให้เด่นชัด ดูแลความผาสุข ยกศักยภาพผู้คน เปิดให้ประชาชนเข้าใจการเมืองแบบธรรมชาติของสังคมอย่างถูกต้อง สุภาพ เคารพชีวิต
11/8/2559
นับหลัง เปรมมา ไม่มีนายกท่านใดอยู่ครบ 4ปี ยกเว้นทักษิณ ซึ่งการครบเทอมกลายเป็นเรื่องผิดปกติ คนไทยพร้อมเปลี่ยนนายกตลอดเวลา การยกให้ใครให้เป็นนายกอีกรอบจึงขัดกับสังคมไทย แต่การยกอดีตนายกเป็นที่ปรึกษาจะเป็นพลังบวก เสริมคะแนน
11/8/2559
นิสัยเบื่อง่าย หรือ อารมณ์เบื่อง่าย เกิดขึ้นมาคู่กับอารมณ์ตื่นเต้นที่เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ คนไทยมีโอกาสหาเรื่องที่ตื่นเต้นได้ง่าย ๆ เมื่อตื่นเต้นได้ง่าย ๆ บ่อย ความอดทนต่ออารมณ์เดียวนาน ๆ จะเกิดการเบื่อเกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของการเบื่อไว การเมืองก็เป็นกิจกรรมของอารมณ์คนไทย จัดบรรยากาศการเลือกตั้ง การเมือง เรื่องตำแหน่ง อำนาจ ให้คำนึงการจัดการอารมณ์ของคนไทยให้ดี
11/8/2559
ในจุดแข็ง มีจุดอ่อน
1.สังคมไทย สังคมครอบครัวมีวัฒนธรรมที่เอื้อให้คนมีเวลาใช้เฟซบุ๊ค/โซเซียลมากกว่าหลายประเทศ แม่พ่อทำงานหนักแทนลูก ๆ ลูก ๆ เรียกร้องจากพ่อแม่ และประเทศอื่นที่เจริญจะรักษาสิทธิส่วนบุคคลสูง
2.พื้นที่ประเทศไทย มีอาหารจำนวนมาก ทำตัวแบบเรื่อย ๆ ก็มีคนหาให้ทาน เช่น พ่อแม่ ส่วนประเทศอื่น ๆ อาหารน้อย คนต้องเร่งรีบ
3.จิตใจคนไทยถูกหล่อหลอมให้ติดความสุขระยะสั้น ๆ กลายเป็นปล่อยปละละเลย ขาดความอดทน เรื่องอะไรที่ต้องใช้ความคิดมากขึ้นก็จะหยุดคิดทันที เกิดทัศนคติแบบมายาคติ นำหลักคิดเชิงศาสนามาใช้ผิด ๆ จำนวนมาก
16/8/2559
การปลดปล่อยให้ประชาชนคิดได้เอง คิดกันเอง อย่างรวดเร็ว หริอ การปล่อยให้ประขาขนเรียนรู้ลองผิดลองถูกแบบสัญชาตญาณการอยู่รอด เหมือนว่าวิธีการแบบ กองทุนหมู่บ้าน,กองทุน SML เสมือนจะขัดความรู้สึกกับแนวคิด ขัดใจ NGO หรือเปล่า จึงเป็นเหตุให้เกิดแรงเหวี่ยงให้ NGO ออกจะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงแบบฝ่ายตรงข้าม
"ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน" เป็นแนวคิดแบบสภาองค์กรชุมชน ผลผลิตของ SIF , กองทุนหมู่บ้าน มากกว่า NGO หรือไม่
NGO ต้องการพัฒนาแบบรอบคอบ ไม่วู่วามแบบสั่่งการด้วยนโยบายรัฐ พรรคการเมืองต้องการตอบสนองประชาชนในแนวราบอย่างเท่าเทียม ทั่งถึง รวดเร็ว ไม่ใช่เหลือเพียงแท่งไอติมเท่านั้นที่ถึงหมู่บ้าน ชาวบ้านหรือแกนนำระดับหมู่บ้านชอบวิธีทำงานแบบพรรคการเมือง NGO ขัดใจกับวิธีการแบบพรรคการเมือง แต่ชอบที่จะเห็นชาวบ้านมีศักยภาพ จึงเสนอ "ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน" เมื่อพรรคการเมืองและNGO ต้องการเห็นศักยภาพประชาชนตรงกัน แล้วเกิดความขัดแย้งกันตรงไหน น่าจะตรงวิธีการ หรือ บทบาทที่แย่งชิงความชื่นชอบ จากประชาชน
22/8/2559
ทาง ร.ร.ทุ่งมนวิทยาคาร จะขอกราบนมัสการให้เป็นกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในนามผู้แทนพระภิกษุสงฆ์ ได้ไหม..... ทางร.ร.ขอคำตอบพรุ่งนี้
เนื่องด้วยได้วางแนวทางวัดไว้ว่า การบริหารวัดต่อไปจะเป็นแบบมีส่วนร่วมจากชุมชนมากขึ้นมากที่สุด "สภาพุทธบริษัท4" การตัดสินใจของเจ้าอาวาสใด ๆ ย่อมผูกพันญาติโยมด้วย หรือ ญาติโยมต้องรองรับการตัดสินใจ หรือการดำเนินงานใด ๆ ตามแนวคิดของเจ้าอาวาสได้
การเข้าไปเป็นกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงต้องเข้าไปในนามวัด นามญาติโยม การตัดสินใจใด ๆ กับสถานศึกษา สมควรเป็นความคิดเห็นจากฐานคิดของชุมชน ญาติโยมด้วย
จึงขอความเห็นญาติโยมที่สนับสนุนให้เข้าไปเป็นกรรมการสถานศึกษาในครั้งนี้ จำนวนไม่น้อยกว่า 50 ท่าน โดยการลงชื่อรับรองเป็นลายลักษณ์ด้วย
25/8/2559
การที่ต้องโชว์ตัวเลขการเงินถวายพระ เห็นว่าเป็นความจริงที่จำเป็นต้องดูแลพระสงฆ์และองค์กรที่ท่านดูแลอยู่ อยากลบมายาคติของสังคมนี้บ้าง ไม่อยากเหนียมอายเรื่องการเงินกับพระ กล้าเปิดเผยตรงไปตรงมา แล้วให้มุมมองใหม่ เงิน คือ ปัจจัย 4 นำไปสู่ธาตุ 4 เมื่อพระภิกษุสงฆ์มีจุดอ่อนเรื่องเงินทอง ถ้าไม่ปรับมุมมององค์กรพระพุทธศาสนาจะทำงานยาก ควรกล้าเผชิญปัญหาที่จะถูกต่อว่า แต่ยืนยันหลักโปร่งใส มีส่วนร่วม และการแบ่งปัน เกื้อกูลกันในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพชีวิตของทุกชีวิต
27/8/2559
เพราะไม่อำนาจนิยม จึงไม่แสดงการอุปถัมภ์ ยามมีอำนาจ การไม่อำนาจอุปถัมภ์ คือการปลดปล่อยศักยภาพคนรอบข้าง คนเท่ากันได้ฝึกฝนตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี นายกคือแม่บ้าน มิใช่นายคนเช่นเดิม อยากรู้ว่า วัฒนธรรมการเมืองจะไปอย่างไรต่อไป
วัฒนธรรมการเมืองในสมัยใหม่ประชาชนจำต้องเก่งกว่านักการเมือง มิใช่นักการเมืองกำหนดทิศทางตนเองได้แบบเก่า หลังปี 2540 ประชาชนส่วนหนึ่งกำหนดทิศทางเป็น
นักการเมืองเริ่มกำหนดคะแนนให้ตนเองไม่ได้แบบเก่าแล้ว ช่วง10ปีผ่านมานักการเมืองมองประชาชนผิดจึงขัดแย้งกันเอง ความหมายนี้ยืนยันว่าจริง
2/9/2559
คนเรามีความรู้สึกสุขทุกข์ จัดเข้าเวทนาขันธ์ การทำความผิดเมื่อสำนึกได้จะปรับปรุงตนเองได้ ด้วยจิตใต้สำนึกความเป็นมนุษย์ การเปิดเผยตัวตนต่อสังคม ถ้าผู้นั้นผิดจริงก็เกิดความอับอาย ความอับอายเป็นทุกเวทนา จึงยากที่จะผลิตจิตสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์ได้ง่าย มีแต่ผลิตอกุศลจิตขึ้นแทน คือ โทสจริต มองโลกเลวร้ายมากขึ้น ส่วนผู้ที่บริสุทธิ์ ยิ่งผลิตความเคียดแค้นต่อสังคมยิ่งขึ้น สังคมไทยสังคมพุทธที่ผ่านมาใช้อำนาจนิยมมากไป เรือนจำจึงกลายเป็นสถานที่ทางสัญลักษณ์บ่มเพาะคนไทยส่วนหนึ่งให้เกิดความเคียดแค้นสังคม มองสังคมเชิงลบอย่างปักใจ หยุดทำให้คนอายดีแล้ว กุศลจิตจะเกิดขึ้นการความทุกข์ใจนั้นยากมาก ยกเว้นผู้มีปัญญา แต่อกุศลจิตเกิดง่าย ๆ โพลงขึ้นปักแน่นใจ แม้ผู้นั้นมีความผิดจริง
4/9/2559
ระบบสมาชิกพรรคการเมืองแบบใหม่ จะเกิดกระบวนการที่ให้ความสำคัญต่อกันมากๆๆ เริ่มจะคล้ายระบบการสร้างศรัทธาแบบองค์กรศาสนา ซึ่งเป็นไปได้อย่างสูงว่าเมื่อสมาชิกท่านใดเสียชีวิตจะได้รับพวงหรีดจากหัวหน้าพรรค หรือ ประธานสาขาพรรค
นิสัยใจคอ ส.ส.ในประเทศไทยกำลังจะเป็นไป สมาชิกพรรคการเมืองมีความสำคัญกว่า ส.ส. ผู้เป็น ส.ส.จะตั้งใจฟังและนั่งจดความคิดเห็นของสมาชิกพรรค มากกว่าการมาคุยโวให้สมาชิกฟังเช่นแต่เดิม
เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว เมื่อวัฒนธรรมทางการเมืองเปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมธรรมของพรรคการเมืองเปลี่ยน ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับประชาชนเปลี่ยน วิถีความคิดประชาชนเปลี่ยน แล้วองค์กรทางพระพุทธศาสนาจะปรับตัว ปรับความคิดให้ทันประชาชนรอบ ๆ วัดอย่างไร หรือ ผู้คนรอบ ๆ วัด จะมีส่วนร่วมปรับตัวของความเป็นพุทธบริษัท 4 อย่างไรบ้าง
8/9/2559
เชื่อว่า ก่อนปฏิวัติทหารได้ปรึกษาพระนักปกครองระดับสูงแล้ว หมู่บ้านรักษาศีล 5 จึงเดินได้ และการปฏิวัติก่อนนี้ คือ ปี2549 ก็มีการเห็นด้วยจากนายกทักษิณ เพียงแต่ควบคุมทิศทางหลังเลือกปฏิวัติไม่ได้ เพราะเปิดกว้างให้คนต่อต้านเข้ามีส่วนร่วมมากไป กฎหมายจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม แต่วัฒนธรรมการเมืองแบบใจถึง ใจกว้าง ฟังชาวบ้านแบบเข้าใจ อย่างพรรคเพื่อไทย จะครองใจประชาชนตลอดไป นอกเสียจากว่าบรรยากาศแบบเหลืองเปลี่ยนไป คนไทยเลือกคนที่จิตใจ วิธีคิดมากเลย
หลังปฏิวัติ 2 ครั้ง มีความต่างกัน ครั้ง 2549 เปิดทางให้คู่ขัดแย้งออกมามีส่วนร่วมเต็มที่ แต่ครั้งนี้ให้ออกมาแบบสามาแบบควบคุมได้ ฝ่ายต่อต้านก็มีประโยชน์นะ จอมจักรพรรคหญิงแห่งจีน บูเจ๊กเทียน ให้ความสำคัญกับคนตรวจสอบตนอย่างมาก
ปล่อยให้พุทธอิสระ ไพบูลย์ ออกมาตรวจสอบเต็มที่ จะเป็นคุณต่อประชาธิปไตย แต่ธรรมชาติคนชอบตรวจสอบจะทำงานบริหารเองไม่ได้
ประชาธิปัตย์ตรวจสอบเก่ง แต่จะบริหารเองไม่ได้ ธรรมชาตอของผู้นำต้องเป็นร่มไม้ มิใช่ผู้ตรวจการ คนตรวจการก็จะเป็นยามวันยังค่ำ
การเมืองไทยลับลวงพรางมานานแล้ว นักการเมืองและทหารจึงกำหนดประเทศไทยได้ตลอด แต่ปัจจุบันถึงลับลวงพราง แต่ก็จะเป็นคุณต่อประชาชนมากขึ้น
หลังปฏิวัติ นโยบายหมู่บ้านศีล 5 เกิดขึ้นพรึบ ให้คณะสงฆ์ทำงานอย่างสะดวก สอดคล้องกับนโยบายหยุดความวุ่นวาย
ธรรมชาติทหารกลัวความตาย เสี่ยงความตายมากกว่าตำรวจ ทหารจึงพึ่งเครื่องรางของขลัง ทหารจึงเข้าหาพระ 555555 มีมาแต่สมัยอยุธยาแล้ว
ระหว่างการเมือง กับความเสี่ยงตาย ความเสี่ยงตายกำหนดวิถีชีวิตของทหารมากกว่า
หมู่บ้านศีล 5 และโครงการสมานฉันท์ด้วยหลักศาสนา พระสงฆ์จึงต้านร่างรัฐธรรมนูญน้อยกว่า ปี 2550
นายกทักษิณ มีแนวคิดเปิดการเปิดเวทีไฮปาร์คตรวจสอบตนเอง มีแนวคิดการคัดเลือกตัวแทนลงสมัคร ไพรมารี่ ช่วงต้นๆ การเป็นรัฐบาล เขาเป็นคนที่ฟังคนอื่นมากๆ แต่วัฒนธรรมการเมืองไทยได้กลบเกลื่อน ให้เขาแสดงละครแสดงตนว่าเป็นความคิดของตนเอง เป็นผู้ออกจากความคิดเพียงคนเดียว ที่จริงเขาเป็นคนสรุปประเด็นเป็น สื่อความหมายได้ชัดเจน ความจริงทุกอย่างที่นายกทักษิณทำเป็นความคิดของชาวบ้านทั้งหมด มายาคติสังคมไทยทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดความขัดแย้ง แต่ความจริงจะกลัวไปใยกับความขัดแย้ง ความขัดแย้งจะเขย่าความเป็นจริงให้ปรากฏ ความจริงของพรรคการเมืองต่อไปต้องทำแบบไทยรักไทยนั่นแหล่ะ แต่กระบวนการใหม่จะลบมายาคติมากขึ้น
กฎหมายพรรคการเมืองที่ร่างขึ้นใหม่ระบุว่าห้ามคนนอกพรรคมาครอบงำพรรค ไม่อย่างนั้นจะถูกลงโทษอย่างแรง พรรคไหนก็กลัว กลัวมากการถูกลงโทษ พรรคการเมืองจะลดมายาคติ เช่น ที่ชอบอ้างว่าผู้นำเก่ง ผู้นำคิดเอง เป็นนโยบายของผู้นำพรรค มายาคติได้ลงโทษสังคมไทยผ่านมาแล้ว ต่อไปพรรคการเมืองจะบอกว่า นโยบายข้อนี้ ผ่านกระบวนการอย่างไร กี่เวที กี่พื้นที่ มีส่วนร่วมจากสมาชิกพรรคกี่คนสัดส่วนเท่าไร พรรคไทยรักไทย ใช้กระบวนการนี้ แต่แสดงออกด้วยมายาคติ จึงต้องถูกกระเทาะความจริง ให้แสดงกระบวนการที่เป็นจริง ต่อไปใครว่า พรรคใดพรรคหนึ่ง หรือประกาศว่า มีนโยบายมาจากคนใดคนหนึ่ง มีความผิด พรรคจะต้องฟ้องหมิ่นประมาท เพื่อป้องกันตัวพรรคเอง มายาคติพัฒนาประชาธิปไตยไม่ได้เลย
8/9/2559