เลี้ยงเพลในพรรษา ปีที่ 12 ok

จาก wiki.surinsanghasociety
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

การสร้าง “บวรเกื้อกูล”ผ่านการถวายเพลในพรรษากาล ของชุมชนสี่ตำบล อำเภอปราสาท Creation of "Bawon Kuekuen" through Offering Food to Monks in the Rainy Season of the Four Sub-districts, Prasat District

พระครูปริยัติกิตติวรรณ (วีระ กิตฺติวณฺโณ)/ได้ทุกทาง และ ธนรัฐ สะอาดเอี่ยม Phrakhrupariyadkittiwan(Weera Kittiwanno)/Daithukthang1, and Thanarat Sa-ard-iam2

บทคัดย่อ (Abstract) ชุมชนเขมรถิ่นไทยในอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ มีวัฒนธรรมที่โดดเด่นในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาในอดีตมาตั้งแต่บรรพชน โดยชาวบ้านมีการจัดกลุ่มครัวเรือนกันถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุที่วัดผลัดเปลี่ยนกันทุกวัน สำหรับเฉพาะเดือนสิบทุกครัวเรือนไปถวายภัตตาหารตลอด ๑๕ วัน และบางแห่งมีการนัดกันไปถวายเพลกันทั้งหมู่บ้าน จึงเป็นที่มาของคำว่า “เลี้ยงเพลสามัคคี” ดังนั้น ในบทความนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องบวรเกื้อกูล 2) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องการจำพรรษากาลของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา และ 3)เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องการสร้างความสามัคคีของสังคมภายใต้หลัก “บวร” วิธีการศึกษา คือ ศึกษาจากเอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้อง และลงศึกษาสังเกตภาคสนามโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ ใช้กระบวนการวิเคราะห์เชิงพรรณนา ผลการศึกษาพบว่า สถาบัน “บวร” ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามีบทบาทสำคัญในการร่วมกันออกแบบสร้างชุมชนให้เป็นสังคมสงบสันติสุข บทบาท “บวร” มีหน้าที่ต้องเกื้อกูลสอดประสานกันอย่างใกล้ชิด ทำหน้าที่เป็นมิตรที่ดีต่อกัน ด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา กระทั่งถึงปีปัจจุบัน (2563) ซึ่งเป็นปีที่ 12 พุทธศาสนิกชนก็ยังคงมีศรัทธามั่นคง ผู้เข้าร่วมงานบุญมีจำนวนเพิ่มขึ้น แม้บางปีประสบกับภาวะฝนแล้ง และโรคระบาด ผู้นำชุมชนและผู้นำแต่ละหน่วยงานมีการนำข่าวสารของชุมชนและทางราชการมาแจ้งในที่ชุมชนงานบุญ พระภิกษุแต่ละวัดรวมตัวกันทำงานด้วยกันจัดสถานที่และจัดเก็บสถานที่ คณะครูจัดทำโรงทานร่วมงาน การถวายภัตตาหารเพลในพรรษาได้นำพาพระภิกษุทุกวัดมาร่วมฉันด้วยกัน ทำงานด้วยกัน ความสามัคคีเกิดขึ้นในหมู่สงฆ์ ญาติโยมได้ถวายภัตตาหารร่วมกัน บริจาคทำนุบำรุงวัดทุกวัด มีการรับประทานอาหารร่วมกัน เกิดความรักความสามัคคีระหว่างกัน จากการร่วมกันบ่อย ๆ และต่อเนื่องหลายปีกลายเป็นกิจวัตร นิสัย บูรณาการทำงานแก้ปัญหาชุมชน บ้าน วัด โรงเรียน มีผลให้โครงการ กิจกรรม สำเร็จลุล่วงจำนวนมาก คำสำคัญ (Keywords) : พระพุทธศาสนา, สามัคคี, พลังบวร, เกื้อกูล, ถวายภัตตาหารเพล

Abstract The communities of Thai Kummerian in Prasat district, Surin province have a distinctive culture during the Buddhist’s lent festival in the past since its ancestors. The villagers organized household groups to offer food to the monks at the temple, taking turns every day. For only ten months, every household went to offer food for 15 days, and in some places, there was an appointment for the whole village. Thus, the origin of the word " the Food Offering in Unity." Therefore, the objectives of this article are as follows: 1) to study the concept of Bawon Kuekuen, 2) to study the concept of the Buddhist lent for monks, and 3) to study the concept of building a unity of society under the principle of “Bawon”.The method of education is to study relevant academic documents, and study field observation using an interview by used a descriptive method and analysis process. The results had found that: The “Bawon” institute according to the teachings in Buddhism plays an important role in working together to design and create a peaceful community. The "Bawon" role is responsible for close cooperation, and performing as a good friend to each other with Buddhist principles. Until the present year (2020), which is the 12th year, Buddhists are still strong faithful. The number of people attending the merit ceremony has increased. Despite some years of drought and epidemic disease, community leaders and individual leaders have brought community and government news to the community. The monks of each temple gathered together to work together, setting up and storing the place. The teachers created an alms school to attend. The food offering during the rainy season brought all the monks to join together and to work together. Unity arose among the monks. The Buddhists offered food together, and donate to maintain for every temple. They have a portion of food together at the end of the ceremony. In this context, there are love and harmony between each other. Even though many years of frequent and continuous collaboration, it has become a routine, integrative habit of working to solve problems in the community, houses, temples, schools, resulting in several successful projects. Keywords: Buddhism, Harmoniousness, Empowerment, Support, Offering food to Monks บทนำ (Introduction) ปฐมพุทธพจน์ในการส่งสมณทูตออกไปเผยแผ่ศาสนาธรรม คือ “…จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย…” (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่มที่ 4 ข้อที่ 32 หน้าที่ 27) แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย….พวกเธอจงเที่ยวจาริก เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์….” (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่มที่ 4 ข้อที่ 32 หน้าที่ 40) จากพุทธพจน์ที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น พระพุทธเจ้าทรงมอบภาระกิจของการออกเผยแผ่ศาสนธรรมให้กับพระสงฆ์ ผู้เป็นพระธรรมทูตชุดแรก 60 องค์ คือ เพื่อการสร้างประโยชน์ และความสงบสุขให้กับสังคม หรือช่วยเกื้อกูลให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ประเทศไทยนั้น คณะสงฆ์ไทยเป็นพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท พระพุทธศาสนากับสังคมไทยมีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่นใกล้ชิดตลอดมาแต่อดีต ในส่วนของชุมชนนั้นเป็นพื้นที่อยู่อาศัยรวมกันของพุทธศาสนิกชนผู้ให้การอุปถัมภ์วัดและพระภิกษุสงฆ์ พร้อมกันนั้นพุทธศาสนิกก็รับการอบรมแนะนำสั่งสอนจากพระสงฆ์ในวัด วิถีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับพุทธศาสนิกชนนี้ ต่างก็เป็นการตอบแทนจากการอุปถัมภ์นั้น สำหรับโรงเรียนในชุมชนนั้น ต่างก็มีบทบาทในการให้ความรู้แก่ลูกหลานของชาวบ้านในชุมชน แต่ก่อนนั้น พุทธศาสนาก็เป็นองค์กรที่มีบทบาทในด้านการศึกษา ผ่านรูปแบบการจัดการศึกษาแบบองค์กร ซึ่งก็คือ “วัด”วัดจึงเป็นองค์กรทางศาสนามีหน้าที่ในการอบรมสั่งสอนเด็กเยาวชนในชุมชนให้มีความประพฤติเรียนร้อยอยู่ในศีลธรรม โดยมีพิธีกรรมทางศาสนาเป็นกระบวนการที่ช่วยคัดเกลาผ่านมิติทางประเพณีวัฒนธรรมในชุมชน วัดในพระพุทธศาสนาจึงเป็นแหล่งบ่มเพาะ และประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้กับสมาชิกในสังคม ในปัจจุบันนั้น ประเทศไทยมีวัดประมาณ 41,310 วัด (กองพุทธศาสนสถาน: สำนักงานพระพุทธศาสนา, ออนไลน์) จากข้อมูลการปกครองส่วนภูมิภาค (ทำเนียบท้องที่) หมู่บ้านทั้งหมดของ 76 จังหวัด (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) 876 อำเภอ 7,255 ตำบล มีจำนวนหมู่บ้าน 75,032 หมู่บ้าน ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2560 (สำนักบริหารการปกครองท้องที่, ออนไลน์) ด้านโรงเรียน ภาพรวมสถิติทางการศึกษา ปีการศึกษา 2562 มีสถานศึกษา จำนวน 41,258 แห่ง (ระบบคลังข้อมูลกลางด้านการศึกษา, ออนไลน์) โดยเฉพาะในส่วนของจังหวัดสุรินทร์นั้น มีวัดประมาณ 962 วัด นางวัฒนา ขอสินกลาง. (2563, สิงหาคม 26) หมู่บ้านจำนวน 2,128 หมู่บ้าน นายสุภาพ คงสุข. (2563, สิงหาคม 26) โรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 830 โรงเรียน นางวันเพ็ญ โสกานิตย์. (2563, สิงหาคม 26) ดังนั้น ในบทความนี้ผู้เขียนจึงมีความประสงค์ที่นำเสนอสาระของความสัมพันธ์กันระหว่างสถาบันหลักในชุมชน คือ “บ้าน-วัด-โรงเรียน” ซึ่งต่างก็มีบทบาทหน้าที่ และเป็นสถาบันหลักของสังคม ที่คอยส่งเสริม และสร้างรากฐานด้านค่านิยม ประเพณี วัฒนธรรมของสังคมไทย เพื่อให้สมาชิกในสังคมได้การนำค่านิยมอันสร้างสร้าง ประเพณี วัฒนธรรม ดังกล่าวมาสร้างความเป็น “บวรเกื้อกูล” ของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสี่ตำบล ในอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ดังมีรายละเอียดที่จะนำเสนอเป็นลำดับต่อไปนี้

แนวคิดเรื่องบวรเกื้อกูล “บวร” จะมีการเกื้อกูลกันและกันอย่างสร้างสรรค์นั้น ก็เป็นเพราะนำเอาหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนามาสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังในวิถีชีวิต และกิจกรรมผ่านมิติ “บวร” นี้ จึงเป็นกลไกทางสังคมเชื่อมโยงของสมาชิกให้อยู่ด้วยกันอย่างเกื้อกูล ในส่วนของบริบทสังคมไทยนั้นพระภิกษุ ซึ่งเป็นศาสนบุคคลในสถาบันศาสนา มีหน้าที่หลักในการเผยแผ่ศาสนธรรมสู่ชุมชน โดยการแนะนำชาวบ้านด้วยการสื่อหลักธรรมภายใต้ความเกื้อกูลความปรารถนาดีต่อกัน ซึ่งได้ผลอย่างชัดเจนจากอดีตถึงปัจจุบัน พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์เผยแผ่ศาสนธรรม โดยการอนุวัติตามบ้านเมืองชาติบ้านเมือง ทั้งนี้ เมื่อมีความจำเป็นที่จะก่อให้เกิดความสงบสุขร่มเย็นตามหลักศาสนา คุณธรรมจริยธรรม พระสงฆ์สามารถดำเนินการได้เพราะพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้คล้อยตามบ้านเมือง (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่มที่ 4 ข้อที่ 186 หน้าที่ 295) และทรงให้ปรับตัวได้ตามเหตุผลบริบทชุมชนสังคม (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่มที่ 5 ข้อที่ 305 หน้าที่ 139) องค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยได้ตราระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พ.ศ. 2518 ขึ้น (วัดโมลีโลกยาราม, ออนไลน์) โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน กำหนดงานไว้ 8 ด้านครอบคลุมการช่วยประชาชนได้พึ่งตนเองได้ทุกด้านในวิถีชาวพุทธไทย เมื่อพัฒนาการสังคมไทยก้าวถึงเหตุการณ์ต้องมีการดำเนินโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” โดยคณะสงฆ์ สังคมไทยก็มีการเพิ่มบทบาทวัดและองค์กรทางพระพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น โดยมีการเขียนไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศว่า “...รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา...”(กฎหมายรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560, 2560 : 17) ดังปรากฏมีในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการเรื่อง พลัง “บวร” โดยมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางการยกร่างการบูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ ในโครงการชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร มีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานดำเนินการ “นำหลักการ “บวร : บ้าน วัด โรงเรียน/ราชการ” ซึ่งถือเป็นสถาบันที่มีบทบาทใกล้ชิดต่อวิถีชีวิตของคนไทย ไปขับเคลื่อนและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นแหล่งปลูกฝัง บ่มเพาะและเผยแพร่องค์ความรู้ที่มีประโยชน์ เพื่อพัฒนาจิตใจและจิตสำนึกด้านจริยธรรมให้แก่ประชาชนทุกระดับ ให้มีสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม รู้รักสามัคคี เสียสละ และกตัญญูรู้คุณ” (กระทรวงวัฒนธรรม, 2562 : 3) คำว่า “บวร” นี้ เป็นคำย่อมาจาก “บ้าน-วัด-โรงเรียน” (ราเชนทร์ นพณัฐวงศกรและคณะ, 2559 : 8) บ้าน ประกอบไปด้วยครอบครัว กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน อบต. สาธารณสุขตำบล เกษตรตำบล เป็นต้น จัดเป็นสถาบันทางสังคม วัดที่ประกอบด้วย เจ้าอาวาส พระภิกษุสามเณร ในอดีตวัดคือศูนย์ รวมของทุกๆสิ่งตั้งแต่เกิดจนตาย จัดเป็นสถาบันศาสนา โรงเรียนประกอบ ด้วย ครูใหญ่อาจารย์ ใหญ่ คณะครูนักวิชาการ และบุคคลากรทางการศึกษา อื่นๆ ทั้งในโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย และองค์กร ทางการศึกษาอื่นๆ จัดเป็นสถาบันการศึกษา ในสถาบันหลักของชุมชนที่ประกอบเป็น “บวร” วัดมีความสำคัญต้องนำพาสังคมให้เกิดสังคมฐานความรู้ สังคมแห่งภูมิปัญญา อบรมบ่มสติปัญญา ด้วยพระพุทธศาสนาเถรวาทได้เผยแผ่อยู่ในชุมชนสังคมคนไทยมาอย่างยาวนาน 2,000 กว่าปี มีพระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตวิญาณ ซึ่งมีบทบาทหลักในการขัดเกลาจิตใจของผู้คนในชุมชนสังคมให้เกิดขวัญและกำลังใจในการก่อร่างสร้างตัวตลอดถึงการสร้างบ้านแปลงเมืองตลอดมาทุกยุคสมัยประวัติศาสตร์ไทย วัดในประเทศไทย จึงเป็นสถานที่ที่ถูกกำหนดพื้นที่ไว้หรือสร้างขึ้นพร้อม ๆ กับการเริ่มสร้างชุมชน วัดจึงเป็นศูนย์กลางของชุมชนสำหรับการปรึกษาหารือกัน ประชุมกันทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ และนอกจากนี้ วัดก็ยังเป็นพื้นที่สำหรับความคิดสร้างสรรค์ หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาสั่งสอนให้ศาสนากำหนดจิตในทางกุศล ละความชั่วสร้างความดี หมั่นพัฒนาจิตใจ ประจักษ์ว่าการคิดดี พูดดี ทำดี จะยังให้กุศลใดที่ยังไม่เกิดก็ได้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญยิ่งขึ้นไป เมื่อวัดไทยเป็นแหล่งฝึกสอนให้มีการสื่อสารเพื่องานสร้างสรรค์ พัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญา วัดจึงเป็นสถานที่แรก ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นโรงเรียน เป็นโรงพยาบาลรักษากายรักษาใจ เป็นสถานที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งและสร้างความเข้าใจความสามัคคีกัน นับได้ว่าวัฒนธรรมชาวพุทธเป็นวิถีหลักสำหรับการพัฒนาชุมชนมาตั้งแต่การมีชุมชน ชุมชนได้สร้างวัดในสังคมไทยให้เป็นพื้นที่กลาง เป็นศูนย์รวมจิตใจของทุกองค์กรในชุมชน ในทิศ 6 สมณพราหมณ์ คือ พระสงฆ์เพราะเป็นผู้สูงด้วยคุณธรรมและเป็นผู้นำทางจิตใจ เมื่อสถาบันครอบครัวทำหน้าที่บำรุงพระสงฆ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน ว่า ทำอะไร ๆ ด้วยเมตตา พูดคำใด ๆ ด้วยเมตตา คิดสิ่งใด ๆ ด้วยเมตตา ต้อนรับด้วยความเต็มใจ อุปถัมภ์ด้วยปัจจัยสี่ พระสงฆ์ย่อมอนุเคราะห์คฤหัสถ์ชาวบ้านครอบครัวด้วยการ ห้ามปรามจากความชั่วความผิดเพื่อไม่ให้สังคมเดือดร้อน ให้ตั้งอยู่ในความดีร่วมกันสร้างสังคมสันติสุข เมื่อทำ พูด คิดก็อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี นำนวัตกรรมองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาอธิบายให้เกิดความรู้ความเข้าใจให้มากขึ้นตามลำดับเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้ความรู้ความเข้าใจและทักษะสำหรับการดำเนินชีวิตที่จะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตหลังความตาย (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่มที่ 11 ข้อที่ 272 หน้าที่ 216) บทบาทของวัดนั้น สังคมไทยได้กำหนดภารกิจ 6 ด้านไว้ชัดเจน ตามมาตรา 15 ตรี (1) และ (3) กำหนดให้มหาเถรสมาคมซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยมีอำนาจหน้าที่(พรบ.การคณะสงฆ์ พ.ศ.2535, 2535 : 7) 1) การรักษาความเรียบร้อยดีงาม 2) การศาสนศึกษา 3) การศึกษาสงเคราะห์ 4) การเผยแผ่พระพุทธศาสนา 5) การสาธารณูปการ 6) การสาธารณสงเคราะห์ และองค์กรสงฆ์ไทยได้กำหนดในข้อ 5 แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 23 (พ.ศ.2541) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ ก็กล่าวถึง “การ” ไว้โดยชัดเจนเป็น 6 ข้อนี้ บทบาทโรงเรียนหรือครูในทิศ 6 เป็นหลักการที่ความสำคัญมาก สอนไว้ว่า ครูอาจารย์เป็นทักขิไณยบุคคล ควรแก่การบูชา ครูอาจารย์มีบทบาท การฝึกฝนแนะนำให้ลูกศิษย์เป็นคนดี สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง ยกย่องให้ปรากฏในหมู่คณะ ช่วยคุ้มครอง เป็นที่พึ่งพำนักในทิศทั้งหลาย (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่มที่ 11 ข้อที่ 268 หน้าที่ 213) บทบาทพ่อแม่ บทบาทครูและบทบาทพระสงฆ์ ตามหลักทิศ 6 มีความคล้ายคลึงกันมาก สรุปว่าเป็นบทบาทในการฝึก การอบรม การพัฒนาคน เป็นการพัฒนามนุษย์ให้สมบูรณ์ ครู เป็นอาชีพที่สืบต่อจากความเป็นพระพุทธเจ้า พ่อแม่รับบทบาทเป็นพระอรหันต์ของบุตร ครูและพ่อแม่จึงต้องร่วมมือกับพระสงฆ์ในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ คำว่า “บวร” ไม่ได้มีความหมายตามพจนานุกรมไทยที่แปลว่า ประเสริฐ, ล้ำเลิศ เท่านั้น แต่มาจาก บ คือ บ้าน ว คือ วัด ร คือ โรงเรียน “บวร” จึงไม่ใช่เพียงคำประกอบที่ใช้เรียกสถานที่ต่างๆ เท่านั้น แต่มีที่มาถึงสังคมที่เกื้อกูล ส่งเสริม ช่วยเหลือ ซึ่งกันและกันในวงเวียนสังคมนั้นๆ ความเจริญที่แท้จริงของสังคมที่จะมีความสุขจึงจะสมบูรณ์แบบ “บวร”จึงต้องเคลื่อนตัวบนฐานความรู้ความเข้าใจ สติปัญญา การรู้ทันปัจจุบัน ในแก่นแท้ทางสังคมศาสนา

การจำพรรษากาลของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา แต่ต้นพระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ตั้งกฎให้พระเข้าจำพรรษา พระภิกษุสงฆ์มีการสัญจรจารึกเผยแผ่พระพุทธศาสนาตลอดกาล การไม่หยุดพักในพรรษากาลฝนเช่นนักบวชกลุ่มอื่น ๆ เป็นภาพที่บ่งบอกว่านักบวชกลุ่มสมณะ ไม่ปกติเช่นประเพณีปฏิบัติในถิ่นชนดั่งเดิม เมื่อมีประชาชนกล่าวติเตียนต่าง ๆ นานา พระพุทธองค์จึงอนุญาตให้มีการจำพรรษา “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายเข้าจำพรรษา” (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่มที่ 4 ข้อที่ 107 หน้าที่ 292) การจำพรรษาเป็นระยะเวลาหน้าฝนระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งนักบวชทุกกลุ่มในดินแดนชมพูทวีปล้วนมีการจำพรรษา การจำพรรษาเป็นกิจจำเป็นสำคัญต่อความศรัทธาของประชาชน พระพุทธองค์จึงกำหนดให้มีความผิดเมื่อไม่ปฏิบัติ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุจะไม่เข้าจำพรรษาไม่ได้ รูปใดไม่เข้าจำพรรษา ต้องอาบัติทุกกฎ” (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่มที่ 4 ข้อที่ 108 หน้าที่ 294) จากวินัยการจำพรรษา เป็นระยะเวลาที่มีการบวชอยู่อย่างน้อย 3 เดือน พระภิกษุได้อยู่ประจำที่ ได้ศึกษาอบรมตนตามหลักไตรสิกขา จำนวนพระในวัดมีความแน่นอน บิดามารดาญาติตั้งใจอุปัฏฐากบำรุงอย่างต่อเนื่อง การบำรุงอุปัฏฐากพระในพรรษาเกิดประเพณีวัฒนธรรมแห่งความเสียสละทุ่มเทเอาใจใส่อย่างดี

ความสามัคคีกับการเกื้อกูลของสังคมภายใต้หลัก “บวร” ความสามัคคี คือ สภาวะที่มนุษย์มีความสัมพันธ์อันดีงามและยั่งยืน เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการอยู่ร่วมกันในชุมชน สังคม เพราะคนเรามีความสามารถในการทำกิจการงานใด ๆ ได้ไม่เท่ากัน หรือไม่ง่ายที่จะทำได้ดีไปทุกอย่าง งานต่าง ๆ มากไปด้วยอุปสรรค เกินกำลังบ้าง ต้องใช้เวลามากบ้าง ความสามัคคีเป็นการร่วมมือกันทำงานให้เสร็จลุล่วงทันการณ์ ลดระยะเวลา ลดทุนทรัพย์ ลดความเหนื่อยล้า ลดการสูญเสีย ความสามัคคี หรือหลักธรรมที่ทำให้มนุษย์สัมพันธ์ยั่งยืน หลักธรรมในพระพุทธศาสนา ที่สำคัญในการดำเนินกิจกรรม “บวรเกื้อกูล” คือ พรหมวิหาร 4 เป็นหลักธรรมประจำใจเพื่อให้ตนดำรงชีวิตได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ ประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 4 ข้อธรรม สังคหวัตถุ 4 หลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่น ผูกไมตรี เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล หรือเป็นหลักการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน มี 4 ข้อธรรม และสาราณียธรรม 6 ธรรมเพื่อความสามัคคี มีเมตตา มีไมตรีจิต ต่อกันทางการกระทำ ในเพื่อนสมาชิก มีเมตตา มีไมตรีจิตต่อกันทางวาจา มีเมตตา มีไมตรีจิตต่อกันอย่างจริงใจ คือตั้งจิตปรารถนาดี ต่อกัน จนถึงขั้น จิตใจใสสะอาดบริสุทธิ์และสงบ สาธารณโภคิตา มีความเสมอภาค ไม่เห็นแก่ส่วนตัว สีลสามัญญตา รักษาและปฏิบัติให้มีศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อสมาชิกทั้งหลาย ทิฏฐิสามัญญตา มีทิฏฐิงามเสมอกันกับเพื่อนสมาชิกทั้งหลาย จากประเด็นดังที่กล่าวมา ความเกื้อกูลกันตามหลัก “บวร” แบ่งได้เป็น 2 หลักการ คือ (1) หลักการที่เป็นไปตามหลักธรรมทิศ 6 ถ้าดำเนินการตามแนวทิศ 6 จะเป็นการเกื้อกูลกันสำหรับการอบรมสั่งสอนปลูกฝังคุณธรรมศีลธรรมแก่ลูกหลานเด็กเยาวชน ด้วยการสั่งสอน อบรม ตลอดถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน สร้างสังคมปลอดภัยสำหรับเด็ก (2) หลักการความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนสังคม จะเป็นแบบปลุกเร้าคุณธรรมแก้ผู้คนทั้งชุมชนสังคม เรียกว่า บูรณาการการทำงาน การแก้ไขปัญหารอบด้านครบวงจร


บริบท 4 ตำบลในเขตพื้นที่ศึกษา โดยสังเขป

อำเภอปราสาท ประกอบด้วย 18 ตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 20 พื้นที่ จัดเป็นเทศบาลตำบล 3 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 17 แห่ง พื้นที่ตำบลทุ่งมน ตำบลสมุด ตำบลปรือ และตำบลประทัดบุ อยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอปราสาท ตำบลสมุด ห่างออกจากตัวอำเภอ ประมาณ 8 กิโลเมตร


(1) ตำบลทุ่งมน ตำบลทุ่งมน 11 หมู่บ้าน ติดทิศตะวันตกของตำบลสมุด นายประมวล ยงยิ่งยืน เป็นกำนันคนปัจจุบัน มีวัดมหานิกาย 4 วัด คือ วัดอุทุมพร วัดประทุมทอง วัดสะเดารัตนาราม และวัดสุวรรณหงษ์ ที่พักสงฆ์มหานิกาย 4 แห่ง ที่พักสงฆ์ธรรมยุต 2 แห่ง พระครูปริยัติกิตติวรรณ เจ้าอาวาสวัดสะเดารัตนาราม เป็นเจ้าคณะตำบลทุ่งมน วัดอุทุมพรเป็นวัดเก่าแก่ตั้งขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2360 (ในประวัติศาสตร์ชุมชนเป็นวัดที่สร้างขึ้นก่อนวัดเพชรบุรี) พระมหาเถระที่มีชื่อเสียง ชื่อ หลวงปู่ริม รตนมุณี วัดประทุมทอง ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.2402 พระมหาเถระที่มีชื่อเสียง ชื่อ หลวงปู่คง หลวงปู่ดิน เป็นวัดที่เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของพระมหาเถระในอดีตหลายรูป วัดสุวรรณหงษ์ ได้รับการตั้งใหม่ พ.ศ.2563 วัดและที่พักสงฆ์มหานิกายเข้าร่วมกิจกรรมเลี้ยงเพล 6 แห่ง (2) ตำบลสมุด ตำบลสมุด 8 หมู่บ้าน เป็นตำบลที่แยกจากตำบลทุ่งมนเมื่อปี 2535 นายอุทัย หวังทางมี เป็นกำนันคนปัจจุบัน มีวัดมหานิกาย 2 วัด คือวัดเพชรบุรี และวัดศรีลำยอง วัดธรรมยุต 1 แห่ง ที่พักสงฆ์มหานิกาย 3 แห่ง วัดและที่พักสงฆ์มหานิกาย สังกัดเขตการปกครองคณะสงฆ์ตำบลทุ่งมน วัดเพชรบุรีเป็นวัดเก่าแก่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2342 พระมหาเถระที่มีชื่อเสียง ชื่อ หลวงปู่หงษ์ พรหมปญฺโญ วัดศรีลำยองเป็นวัดเก่าแก่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2303 วัดที่สร้างลำดับที่ 2 ในพื้นที่อำเภอปราสาท พระมหาเถระที่มีชื่อเสียง ชื่อ หลวงปู่คีย์ กิตฺติญาโณ วัดและที่พักสงฆ์มหานิกายเข้าร่วมกิจกรรมเลี้ยงเพล 3 แห่ง


(3) ตำบลปรือ ตำบลปรือ 19 หมู่บ้าน ติดทิศใต้ของตำบลทุ่งมนและตำบลสมุด วัดมหานิกาย 5 วัด วัดธรรมยุต 1 แห่ง วัดและที่พักสงฆ์มหานิกายสังกัดเขตการปกครองคณะสงฆ์ตำบลปรือ วัดและที่พักสงฆ์มหานิกายเข้าร่วมกิจกรรมเลี้ยงเพลกับสี่ตำบล 1 แห่ง คือ วัดบวรมงคล ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านปรือ ในอดีตเป็นหมู่บ้านหนึ่งของตำบลทุ่งมน หลวงพ่อแม้น จนฺทปญฺโญ/หวังสำราญ ลูกศิษย์หลวงปู่ริม รตนมุณี อดีตเจ้าอาวาสวัดอุทุมพร วัดบวรมงคลมีความสัมพันธ์ที่ดีกับการคณะสงฆ์ตำบลทุ่งมน ทั้งสายชั้นปกครอง และทางพื้นที่ภูมินิเวศน์วัฒนธรรม และเจ้าอาวาสวัดเป็นบุคคล 1 ใน 3 ที่ถือบัญชีกองทุนสวัสดิการคณะสงฆ์ตำบลทุ่งมน

(4) ตำบลประทัดบุ ตำบลประทัดบุ 9 หมู่บ้าน อยู่ด้านทิศเหนือของตำบลสมุด มีวัดมหานิกาย 2 วัด วัดธรรมยุต 1 แห่ง วัดและที่พักสงฆ์มหานิกายสังกัดเขตการปกครองคณะสงฆ์ตำบลไพล วัดและที่พักสงฆ์มหานิกายเข้าร่วมกิจกรรมเลี้ยงเพลสี่ตำบล 1 แห่ง คือวัดสุวรรณาราม พระครูสุพัฒนกิจ เป็นเจ้าอาวาสวัด อดีตเจ้าคณะตำบลทุ่งมน รองเจ้าคณะอำเภอปราสาท สายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระครูประสาทพรหมคุณ(อดีตเจ้าอาวาสวัดเพชรบุรีและอดีตเจ้าคณะตำบลทุ่งมน) เป็นพระอุปัชฌาย์ของพระภิกษุในพื้นที่ทั้งหมด วัดสุวรรณารามจึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคณะสงฆ์ตำบลทุ่งมนและกิจกรรมเลี้ยงเพลในพรรษาทั้งสายพระชั้นปกครองคณะสงฆ์ 2 ตำบลและทางพื้นที่ภูมินิเวศน์วัฒนธรรม ที่สำคัญ คือ การก่อเกิดโครงการกิจกรรมนี้ในพรรษา ปี 2551 เป็นครั้งแรก เมื่อทุกเสียงตอบรับว่าเป็นเรื่องดี ในพรรษาปี 2552 จึงเริ่มมีกิจกรรมเลี้ยงเพลในพรรษาขึ้นเป็นปีแรก และการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการคณะสงฆ์ตำบลทุ่งมนเป็นสำคัญ

การเลี้ยงเพลพระ กับ การสร้างพลังบวรเกื้อกูล 1) บทบาทของบ้าน: ชุมชน หรือผู้นำชุมชน สมาชิกของชุมชนเป็นผู้ได้ปฏิบัติตนกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต สื่อสารข่าวสารถึงกันอย่างสร้างสรรค์ มีการพูดคุยกัน ไต่ถาม ชี้แจง บอกเล่า ชวนกันทำเรื่องดี ๆ ผู้ใหญ่บ้าน หรือ กำนัน จะประกาศผ่านหอกระจายข่าว แจ้งข่าวงานบุญตามตารางที่ทางคณะสงฆ์กำหนดและชักชวนชาวบ้านร่วมบุญในนามหมู่บ้านแต่ละครั้ง ผู้สูงอายุหรือผู้นำครอบครัวแต่งตัวเหมาะสมถือภัตตาหารของแต่ละท่านไปร่วมงานบุญถวายเพลในพรรษา ได้พบปะพูดคุยกัน กลุ่มแม่บ้านได้ช่วยกันเตรียมถ้วยชาม หม้อ ภาชนะต่าง ๆ จัดแจงสำหรับภัตตาหาร และจัดเลี้ยง เก็บเมื่อเสร็จงาน คณะกรรมการวัดแต่ละวัดจัดตั้งกองอำนวยการต้อนรับการบริจาคทุนทรัพย์บำรุงวัด ประชุมกันก่อนงาน จัดสถานที่และเก็บสถานที่ ผู้นำได้นำข่าวสารมาประชาสัมพันธ์ในงานบุญ ได้ให้ความสำคัญซึ่งกันและกันในฐานะองค์กรของชุมชน ความอิ่มอร่อยไปด้วยกัน รับประทานอาหารด้วยกัน เป็นบรรยากาศสังคมไม่ทอดทิ้งกัน ครอบครัวจัดทำโรงทานแห่งการแบ่งปันกัน เป็นสิ่งหนึ่งที่เติมเต็มความชุมชนระบบเครือญาติใกล้ชิด การฝึกในการแบ่งปันช่วยขยายใจให้มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ร่วมสมทบทุนกองทุนสวัสดิการคณะสงฆ์ตำบล 2) บทบาทของวัด: พระภิกษุสงฆ์นั้น สถานีทุ่งมนสว่างกลางใจ คลื่น 98.75 เมกะเฮิรตซ์ สถานีตั้งอยู่ที่วัดสะเดารัตนาราม ได้ประชาสัมพันธ์ข่าวงานบุญพร้อมบรรยายหลักธรรมพรหมวิหาร 4 สังคหวัตถุ 4 สาราณียธรรม 6 และหลักธรรมที่เกี่ยวเนื่องตลอดพรรษา คณะสงฆ์จากแต่ละวัดเข้าร่วมกันช่วยกันพัฒนาสถานที่วัดแต่ละวัดก่อนถึงงานบุญ ทุกวัดได้ความร่วมมือกันภายในคณะสงฆ์ตำบลช่วยกันเต็มแรงเต็มกำลังดุจวัดเดียวกัน สอดรับโครงการคณะสงฆ์ไทยในโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ในวันถวายเพลพระภิกษุทุกรูปแต่ละวัดเอื้อเฟื้อร่วมฉันเพลเป็นเนื้อนาบุญแก่ญาติโยม ก่อนญาติโยมกล่าวคำถวายภัตตาหารเพลคณะสงฆ์สวดบทอุทิศส่วนกุศลก่อนทุกครั้งเพื่อสื่อความกตัญญูต่อพระเถราจารย์ ซึ่งล้วนมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนในอดีตทุกรูป และสื่อการเคารพต่อบรรพบุรุษผู้มีพระคุณในชุมชน ปลูกฝังความอ่อนโยนครอบครัวอบอุ่น งานบุญได้สร้างโอกาสในการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ดำเนินการงานกองทุนสวัสดิการคณะสงฆ์ พัฒนาการศึกษา พัฒนาวัด พัฒนาชุมชน สร้างสาธารณประโยชน์ร่วมกัน พร้อมกับผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น สร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ้านวัดโรงเรียนซึ่งได้บรรยากาศของ “บวร” กองทุนสวัสดิการคณะสงฆ์กลายเป็นกลไกขับเคลื่อนการช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างวัดกับวัด วัดกับผู้นำชุมชน วัดกับญาติโยมผู้อุปถัมภ์วัดและ กิจกรรมคณะสงฆ์ เป็นกำลังใจกันตลอดปี 3) บทบาทของโรงเรียน: คณะครูและนักเรียน การเลี้ยงเพลจัดวันเสาร์อาทิตย์ เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้เข้าวัดพร้อมกับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย คุณครูในโรงเรียนได้ร่วมกิจกรรมกับวัดและบ้าน ดังที่กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่า การถวายเพลในพรรษาเป็นพื้นที่กลางสำหรับการปรึกษาหารือกัน และตกลงพร้อมใจกันช่วยงานกันทำงานด้วยกันทั้งพระภิกษุสงฆ์และชุมชน ผู้นำกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล โรงเรียน รพสต. ทุกปีมีการพัฒนาถนนหนทางกับจิตอาสา งานพัฒนาใหญ่ ๆ เช่น การจัดการน้ำ สร้างฝายน้ำ สร้างสะพาน ล้วนเป็นภาพของ บวร พลังบวร บวรแห่งการเกื้อกูล งานบุญนี้ก็ยังเหนียวแน่นตลอด 12 ปี และทวีความแน่นเฟ้นยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ด้วยเพราะมีการสร้างวัฒนธรรมองค์กรสงฆ์แบบสังคมสังฆะ ทำงานแนวระนาบ ลดการสั่งการเชิงอำนาจ ปล่อยให้ความคิดสร้างสรรค์เจริญเติบโต ผลงานที่เกิดขึ้นส่วนมากมาจากการนำเสนองาน เมื่อผ่านมติสงฆ์จึงนำพากันลงมือไปด้วยกัน ตำแหน่งทุกตำแหน่งทางการคณะสงฆ์ ทางราชการ เป็นเครื่องมือในอำนวยการทุกด้าน วัฒนธรรมองค์กรจึงกลายเป็นแรงหนุนเสริมกันและกันอย่างลงตัวประกอบด้วยศาสตร์และศิลป์ หรือวิชาการคู่คุณธรรม นับว่าเป็น “พลังบวร” “บวรเกื้อกูล” ได้ในที่สุด

รูปภาพที่ 1 : กิจกรรมเลี้ยงเพล ที่มา: ผู้เขียน รูปภาพที่ 2 : กิจกรรมเลี้ยงเพล ที่มา: ผู้เขียน

จากข้อมูลที่นำเสนอมาทั้งหมด สามารถเขียนเป็นแผนภูมิภาพ ดังนี้






แผนภูมิภาพ ที่ 1, ที่มา: ผู้เขียน บทสรุป (Conclusion) บ้าน วัด และโรงเรียน 3 สถานบันหลักของชุมชนไทยพุทธ หรือ สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา และสถาบันการศึกษา คือ 3 สถาบันหลักของชุมชนทุกชุมชนทุกประเทศทั่วโลก เพราะมีความจำเป็นสำหรับการอบรมสั่งสอน อาศัยกันสำหรับการดำรงไว้ซึ่งชุมชน สังคม ประเพณี วัฒนธรรม เผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ประเทศชาติ ศาสนา สำหรับหลักธรรมพระพุทธศาสนา บ้าน วัด โรงเรียน มีบทบาทหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน หนุนเสริมกันและกันในการพัฒนาจิตใจ พัฒนาความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ การจำพรรษาระยะ 3 เดือน ได้สร้างความมั่นใจสำหรับญาติโยมผู้อยู่ในชุมชนต่อจำนวนพระสงฆ์ที่แน่นอน ไม่โยกย้าย ไม่ติดธุระเดินทางไกล อุบาสกอุบาสิกาสามารถพบเห็นใกล้ชิด หรือตักบาตร ถวายภัตตาหารกับพระภิกษุผู้บวชใหม่ในพรรษาตลอดพรรษา การถวายภัตตาหารเพลในช่วงเข้าพรรษาได้ต่อเนื่องเกิดนิสัยรักบุญกลัวบาป การจัดกิจกรรมใด ๆ ภายใต้บวร สามารถสำเร็จลุล่วงได้ดีงดงาม เพราะครอบครัวและชุมชนเป็นฝ่ายสนับสนุนทุนต่าง ๆ เช่น พละกำลัง อาหาร น้ำ สิ่งของ ทุนทรัพย์อื่น ๆ วัดเป็นฝ่ายจูงใจ โน้มน้าวให้เกิดความเสียสละ อ่อนโยน เห็นประโยชน์ร่วมกัน รักสามัคคี ไม่ทอดทิ้งกัน โรงเรียนเป็นฝ่ายยืนยันว่าการพัฒนาเด็กเยาวชน ครอบครัว ชุมชน ไปในทิศทางที่ถูกต้องตามนโยบายราชการ ประเทศชาติ

เอกสารอ้างอิง (References) กฎหมายรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560. (2560, เมษายน 6). ราชกิจจา นุเบกษา. 134. หน้า 1-90. กองพุทธศาสนสถาน: สำนักงานพระพุทธศาสนา.(2562). “วัดมีพระสงฆ์ทั่วประเทศ”. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : http://www3.onab.go.th/2019/02/12/wattotalsummaryreport31012562/. สืบค้น 26 สิงหาคม 2563. กระทรวงวัฒนธรรม. (2562). แนวทางการสร้างความเข้มแข็งของ “บวร” เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน. หน้า 1-52. พระราชบัญญัติการคณะสงฆ์(ฉบับที่2)พ.ศ. 2535. (2535, มีนาคม 4). ราชกิจจานุเบกษา. 109. หน้า 5-11. พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ฉบับบาลี เล่มที่ 4, กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535. พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ฉบับภาษาไทย เล่มที่ 4, เล่ม 5, เล่ม 11 กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539. ระบบคลังข้อมูลกลางด้านการศึกษา. (2562). “จำนวนสถานศึกษา”. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก :

http://www.eduwh.moe.go.th/. สืบค้น 26 สิงหาคม 2563.

ราเชนทร์ นพณัฐวงศกรและคณะ. (2559). “กระบวนการประชาสังคม“บวร”หลักในการพัฒนา ชุมชนให้ยั่งยืน”. การประชุมวิชาการระดับชาติสหวิทยาการเอเชียอาคเนย์ 2559 ครั้งที่ 3. หน้า 1-9.

 วัดโมลีโลกยาราม.(2562). “ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำ 

ตำบล พ.ศ. 2518”. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : https://www.watmoli.com/wittaya-one/1526/#_ftnref1. สืบค้น 26 สิงหาคม 2563. สุภาพ คงสุข. (2563, สิงหาคม 26). เจ้าหน้าที่ที่ทำการปกครองจังหวัดสุรินทร์. สัมภาษณ์. สำนักบริหารการปกครองท้องที่. (2560). (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : https://multi.dopa.go.th/pab/news/cate9/view46. สืบค้น 26 สิงหาคม 2563. วัฒนา ขอสินกลาง. (2563, สิงหาคม 26). นักวิชาการศาสนาชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุรินทร์. สัมภาษณ์. วันเพ็ญ โสกานิตย์. (2563, สิงหาคม 26). ข้าราชการสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุรินทร์. สัมภาษณ์.